ภควัท-คีตา ฉบับเดิม

บทที่ สิบหก

ธรรมชาติทิพย์และธรรมชาติมาร

SIMPLE

โศลก 1-3

śrī-bhagavān uvāca
abhayaṁ sattva-saṁśuddhir
jñāna-yoga-vyavasthitiḥ
dānaṁ damaś ca yajñaś ca
svādhyāyas tapa ārjavam
ศฺรี-ภควานฺ อุวาจ
อภยํ สตฺตฺว-สํศุทฺธิรฺ
ชฺญาน-โยค-วฺยวสฺถิติห์
ทานํ ทมศฺ จ ยชฺญศฺ จ
สฺวาธฺยายสฺ ตป อารฺชวมฺ
ahiṁsā satyam akrodhas
tyāgaḥ śāntir apaiśunam
dayā bhūteṣv aloluptvaṁ
mārdavaṁ hrīr acāpalam
อหึสา สตฺยมฺ อโกฺรธสฺ
ตฺยาคห์ ศานฺติรฺ อไปศุนมฺ
ทยา ภูเตษฺวฺ อโลลุปฺตฺวํ
มารฺทวํ หฺรีรฺ อจาปลมฺ
tejaḥ kṣamā dhṛtiḥ śaucam
adroho nāti-mānitā
bhavanti sampadaṁ daivīm
abhijātasya bhārata
เตชห์ กฺษมา ธฺฤติห์ เศาจมฺ
อโทฺรโห นาติ-มานิตา
ภวนฺติ สมฺปทํ ไทวีมฺ
อภิชาตสฺย ภารต
ศฺรี-ภควานฺ อุวาจ — บุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้าตรัส, อภยมฺ — ไม่มีความกลัว, สตฺตฺว-สํศุทฺธิห์ — ทำให้ความเป็นอยู่ของตนบริสุทธิ์, ชฺญาน — ในความรู้, โยค — เชื่อม, วฺยวสฺถิติห์ — สถานการณ์, ทานมฺ — ให้ทาน, ทมห์ — ควบคุมจิตใจ, — และ, ยชฺญห์ — ปฏิบัติพิธีบูชา, — และ, สฺวาธฺยายห์ — ศึกษาวรรณกรรมพระเวท , ตปห์ — สมถะ, อารฺชวมฺ — เรียบง่าย, อหึสา — ไม่เบียดเบียน, สตฺยมฺ — สัจจะ, อโกฺรธห์ — ปราศจากความโกรธ, ตฺยาคห์ — เสียสละ, ศานฺติห์ — สงบ, อไปศุนมฺ — ไม่ชอบจับผิด, ทยา — เมตตา, ภูเตษุ — ต่อสรรพสัตว์, อโลลุปฺตฺวมฺ — ปราศจากความโลภ, มารฺทวมฺ — สุภาพ, หฺรีห์ — ถ่อมตัว, อจาปลมฺ — มั่นใจ, เตชห์ — กระปรี้กระเปร่า, กฺษมา — ให้อภัย, ธฺฤติห์ — อดทน, เศาจมฺ — สะอาด, อโทฺรหห์ — ปราศจากความอิจฉาริษยา, — ไม่, อติ-มานิตา — คาดหวังการสรรเสริญ, ภวนฺติ — เป็น สมฺปทมฺ — คุณสมบัติ, ไทวีมฺ — ธรรมชาติทิพย์, อภิชาตสฺย — ของผู้ที่เกิดจาก, ภารต — โอ้ โอรสแห่ง ภรต

คำแปล

บุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้าทรงตรัสว่า โดยปราศจากความกลัว ทำให้ความเป็นอยู่ของตนบริสุทธิ์ พัฒนาความรู้ทิพย์ ให้ทาน ควบคุมตนเอง ปฏิบัติพิธีบูชา ศึกษาคัมภีร์พระเวท สมถะ เรียบง่าย ไม่เบียดเบียน มีสัจจะ ปราศจากความโกรธ เสียสละ สงบ ไม่ชอบจับผิดเมตตาต่อมวลชีวิต ปราศจากความโลภ สุภาพถ่อมตน แน่วแน่มั่นคง กระปรี้กระเปร่า ให้อภัย อดทน สะอาด ปราศจากความอิจฉาริษยา และไม่ปรารถนาคำสรรเสริญ โอ้ โอรสแห่ง ภรต คุณสมบัติทิพย์เหล่านี้เป็นคุณสมบัติของบรรดาเทพผู้มีธรรมชาติทิพย์

คำอธิบาย

ในตอนต้นของบทที่สิบห้าได้อธิบายถึงต้นไทรแห่งโลกวัตถุนี้ รากพิเศษงอกออกมาเปรียบเทียบได้กับกิจกรรมของสิ่งมีชีวิตบางครั้งเป็นมงคลบางครั้งไม่เป็นมงคล บทที่เก้าก็เช่นกันได้อธิบายถึงเทพ เทว และมาร อสุร บัดนี้ตามพิธีกรรมพระเวทกิจกรรมในระดับความดีพิจารณาว่าเป็นมงคลเพื่อความเจริญก้าวหน้าบนหนทางแห่งความหลุดพ้น กิจกรรมเหล่านี้เรียกว่า ไทวี ปฺรกฺฤติ เป็นทิพย์โดยธรรมชาติพวกที่สถิตในธรรมชาติทิพย์เจริญก้าวหน้าบนหนทางแห่งความหลุดพ้น อีกด้านหนึ่งสำหรับพวกที่ปฏิบัติในระดับตัณหาและอวิชชาจะไม่ได้รับความหลุดพ้นแต่ต้องอยู่ในโลกวัตถุนี้ในร่างมนุษย์ หรือตกต่ำไปในเผ่าพันธุ์สัตว์ หรือแม้ในรูปชีวิตที่ต่ำกว่าสัตว์ บทที่สิบหกนี้องค์ภควานฺทรงอธิบายทั้งธรรมชาติทิพย์ และคุณสมบัติที่ควบคู่กันไป และธรรมชาติมารพร้อมทั้งคุณสมบัติที่ควบคู่กันไป และทรงอธิบายถึงประโยชน์และโทษของคุณสมบัติเหล่านี้

คำว่า อภิชาตสฺย มีความสำคัญมากสัมพันธ์กับผู้ที่เกิดมามีคุณสมบัติทิพย์หรือแนวโน้มไปในทางเทพ การได้บุตรธิดาในบรรยากาศเทพเรียกในคัมภีร์พระเวทว่า ครฺภาธาน-สํสฺการ หากผู้ปกครองปรารถนาบุตรธิดาในคุณสมบัติเทพควรปฏิบัติตามหลักธรรมสิบประการที่แนะนำไว้เพื่อชีวิตสังคมของมนุษย์ ใน ภควัท-คีตา เราได้ศึกษาแล้วเช่นกันว่าชีวิตเพศสัมพันธ์เพื่อได้บุตรธิดาที่ดีคือองค์กฺฤษฺณเอง ชีวิตเพศสัมพันธ์ไม่ผิดหากใช้วิธีการในกฺฤษฺณจิตสำนึก พวกที่อยู่ในกฺฤษฺณจิตสำนึกอย่างน้อยไม่ควรมีบุตรธิดาเหมือนกับแมวและสุนัข แต่ควรมีบุตรธิดาเพื่อให้มีกฺฤษฺณจิตสำนึกหลังจากเกิดมาแล้ว เช่นนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับเด็กๆที่เกิดกับบิดาและมารดาที่ซึมซาบอยู่ในกฺฤษฺณจิตสำนึก

สถาบันสังคมที่รู้กันในนาม วรฺณาศฺรม-ธรฺม เป็นสถาบันที่แบ่งชีวิตสังคมออกเป็นสี่ส่วนและสี่อาชีพการงานหรือวรรณะไม่ได้หมายความว่าแบ่งสังคมมนุษย์ตามชาติกำเนิด การแบ่งเช่นนี้เป็นไปตามคุณสมบัติทางการศึกษาเพื่อรักษาความสงบและความเจริญรุ่งเรืองในสังคมคุณสมบัติที่กล่าว ที่นี้เป็นคุณสมบัติทิพย์เพื่อทำให้บุคคลเจริญก้าวหน้าในการเข้าใจวิถีทิพย์เพื่อที่จะได้เป็นอิสระจากโลกวัตถุ

ในสถาบัน วรฺณาศฺรม สนฺนฺยาสี หรือบุคคลในชีวิตสละโลกพิจารณาว่าเป็นผู้นำหรือเป็นพระอาจารย์ของทุกๆระดับชั้น ในสังคม พฺราหฺมณ พิจารณาว่าเป็นพระอาจารย์ทิพย์ของระดับในสังคม เช่น กฺษตฺริย, ไวศฺย และ ศูทฺร แต่ สนฺนฺยาสี ผู้อยู่สูงสุดของสถาบันพิจารณาว่าเป็นพระอาจารย์ทิพย์ของ พฺราหฺมณ ด้วยเพราะคุณสมบัติแรกของ สนฺนฺยาสี คือปราศจากความกลัว สนฺนฺยาสี ต้องอยู่คนเดียวโดยไม่มีผู้อุปถัมภ์ หรือไม่รับประกันว่าจะได้รับการอุปถัมภ์ ท่านต้องพึ่งพระเมตตาของบุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้าเท่านั้น หากคิดว่า “หลังจากตัดความสัมพันธ์จากสังคมไปแล้วใครจะปกป้องข้า” หากเป็นเช่นนี้ก็ไม่ควรรับเอาชีวิตสละโลกมาปฏิบัติ เราต้องมีความมั่นใจอย่างแน่วแน่ว่าองค์กฺฤษฺณหรือบุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้าในรูป ปรมาตฺมา ผู้ประทับอยู่ในหัวใจของทุกๆคนทรงเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง และพระองค์ทรงทราบเสมอว่าเราตั้งใจทำอะไรอยู่ ดังนั้นเราต้องมีความมั่นใจอย่างแน่วแน่ว่าองค์กฺฤษฺณในรูปของ ปรมาตฺมา จะดูแลดวงวิญญาณที่ศิโรราบต่อพระองค์“ข้าจะไม่มีวันอยู่คนเดียว” เราควรคิดว่า “ถึงแม้อยู่ในเขตป่าที่มืดมิดที่สุดข้าก็จะมีองค์กฺฤษฺณอยู่เคียงข้าง และพระองค์จะให้การปกป้องคุ้มครองอยู่ตลอดเวลา” ความมั่นใจเช่นนี้เรียกว่า อภยมฺ ปราศจากความกลัว ระดับจิตเช่นนี้จำเป็นสำหรับบุคคลผู้รับเอาชีวิตสละโลกมาปฏิบัติ

จากนั้นต้องทำให้ความเป็นอยู่ของตนเองให้บริสุทธิ์ มีกฎเกณฑ์มากมายที่ต้องปฏิบัติตามในชีวิตสละโลก สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับ สนฺนฺยาสี คือ มีข้อห้ามอย่างเคร่งครัดในการมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสตรี ห้ามแม้แต่จะพูดกับสตรีในที่ลับ องค์ไจตนฺย ทรงเป็น สนฺนฺยาสี ที่ดีเลิศ ขณะทรงอยู่ที่ ปุรี เหล่าสาวกสตรีไม่สามารถแม้แต่มาแสดงความเคารพใกล้พระองค์พวกนางได้รับคำแนะนำให้ไปก้มลงกราบห่างๆ เช่นนี้ไม่ได้แสดงว่ารังเกียจชนชั้นสตรีแต่เป็นข้อกำหนดที่มีไว้สำหรับ สนฺนฺยาสี ไม่ให้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสตรี เราต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของระดับชีวิตโดยเฉพาะของตนเพื่อให้ความเป็นอยู่บริสุทธิ์ขึ้น สำหรับ สนฺนฺยาสี ความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสตรีและความเป็นเจ้าของทรัพย์สมบัติเพื่อสนองประสาทสัมผัสได้ถูกห้ามไว้อย่างเคร่งครัด องค์ไจตนฺย เองทรงเป็น สนฺนฺยาสี ที่ดีเลิศ เราได้เรียนรู้จากชีวิตของพระองค์ว่า ทรงมีความเข้มงวดมากเกี่ยวกับสตรี ถึงแม้พิจารณาว่าเป็นอวตารแห่งองค์ภควานฺที่มีความโอบอ้อมอารีย์และมีเสรีมากที่สุดด้วยการยอมรับพันธวิญญาณผู้ตกต่ำที่สุด พระองค์ก็ยังทรงปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของชีวิต สนฺนฺยาส อย่างเคร่งครัด ในเรื่องที่เกี่ยวกับการคบหาสมาคมกับสตรีมีครั้งหนึ่ง หนึ่งในผู้ที่ใกล้ชิดส่วนพระองค์ชื่อ โฉฏ หริทาส ซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับพระองค์ร่วมกับสาวกรูปอื่นๆไปมองหญิงสาวอย่างมีตัณหา องค์ไจตนฺย ผู้ทรงมีความเคร่งครัดมากจึงปฏิเสธ โฉฏ หริทาส ไม่ให้มาอยู่ในกลุ่มผู้ใกล้ชิดส่วนพระองค์โดยตรัสว่า “สำหรับ สนฺนฺยาสี หรือผู้ใดที่ปรารถนาจะออกไปจากเงื้อมมือของธรรมชาติวัตถุ และพยายามพัฒนาตนเองไปสู่ธรรมชาติทิพย์เพื่อกลับคืนสู่เหย้าคืนสู่องค์ภควานฺ หากมองไปเพื่อเป็นเจ้าของวัตถุ และมองไปที่ผู้หญิงเพื่อสนองประสาทสัมผัส แม้ยังไม่ได้รื่นรมณ์แต่มองไปด้วยแนวโน้มเช่นนี้ควรถูกประณาม และไปฆ่าตัวตายเสียยังดีกว่า ก่อนที่จะมีประสบการณ์กับความปรารถนาที่ผิดๆเช่นนี้” นี่คือวิธีปฏิบัติเพื่อความบริสุทธิ์

รายการต่อไปคือ ชฺญาน-โยค-วฺยวสฺถิติ ปฏิบัติในการพัฒนาความรู้ชีวิต สนฺนฺยาสี หมายไว้เพื่อแจกจ่ายความรู้แก่คฤหัสถ์และบุคคลอื่นๆผู้ที่ลืมชีวิตอันแท้จริงแห่งความเจริญก้าวหน้าในวิถีทิพย์ของตน สนฺนฺยาสี ควรภิกขาจารไปตามบ้านเพื่อการดำรงชีพ เช่นนี้มิได้หมายความว่าเป็นขอทาน การถ่อมตนก็เป็นอีกคุณสมบัติหนึ่งสำหรับผู้สถิตในวิถีทิพย์ และด้วยความถ่อมตนแท้ๆที่ สนฺนฺยาสี ภิกขาจารจากบ้านหนึ่งไปยังอีกบ้านหนึ่ง ไม่ใช่เพื่อไปขอทานโดยตรง แต่เพื่อไปพบและปลุกพวกคฤหัสถ์ให้ตื่นมาอยู่ในกฺฤษฺณจิตสำนึก นี่คือหน้าที่ของ สนฺนฺยาสี หากท่านเจริญก้าวหน้าจริงและได้รับคำสั่งจากพระอาจารย์ทิพย์ท่านควรสอนกฺฤษฺณจิตสำนึกด้วยตรรกวิทยาและความเข้าใจ หากยังไม่เจริญก้าวหน้าพอก็ไม่ควรรับเอาชีวิตสละโลกมาปฏิบัติโดยไม่มีความรู้เพียงพอ ท่านควรสดับฟังจากพระอาจารย์ทิพย์ผู้เชื่อถือได้เพื่อพัฒนาความรู้โดยสมบูรณ์ สนฺนฺยาสี ผู้รับเอาชีวิตสละโลกมาปฏิบัติจะต้องไม่มีความกลัว สตฺตฺว-สํศุทฺธิ (มีความบริสุทธิ์) และ ชฺญาน-โยค (มีความรู้)

คำต่อไปคือการให้ทาน หมายไว้สำหรับคฤหัสถ์ คฤหัสถ์ควรหาเงินเลี้ยงชีพด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และให้ห้าสิบเปอร์เซ็นต์ของรายได้เพื่อเผยแพร่กฺฤษฺณจิตสำนึกไปทั่วโลก ดังนั้นคฤหัสถ์ควรให้ทานแก่สถาบันสังคมที่ปฏิบัติเช่นนี้ การให้ทานควรให้แก่ผู้รับที่ถูกต้อง มีการให้ทานที่แตกต่างกันดังจะอธิบายการให้ทานในระดับความดี ตัณหา และอวิชชาต่อไป พระคัมภีร์แนะนำการให้ทานในระดับความดี การให้ทานในระดับตัณหา และอวิชชาไม่แนะนำเพราะเป็นการเสียเงินเปล่า การให้ทานควรให้เพื่อเผยแพร่กฺฤษฺณจิตสำนึกไปทั่วโลกเท่านั้น เช่นนี้คือการให้ทานในระดับความดี

สำหรับ ทม (ควบคุมตนเอง) ไม่เพียงหมายไว้สำหรับระดับอื่นๆของสังคมศาสนาเท่านั้นแต่หมายไว้เฉพาะคฤหัสถ์ ถึงแม้ว่ามีภรรยาคฤหัสถ์ก็ไม่ควรใช้ประสาทสัมผัสของตนเพื่อชีวิตเพศสัมพันธ์โดยไม่จำเป็น มีข้อห้ามต่างๆสำหรับคฤหัสถ์แม้ในชีวิตเพศสัมพันธ์ ซึ่งควรปฏิบัติเพื่อมีบุตรธิดาเท่านั้น หากไม่ต้องการบุตรธิดาเราไม่ควรรื่นเริงชีวิตเพศสัมพันธ์กับภรรยา สังคมปัจจุบันรื่นเริงชีวิตเพศสัมพันธ์ด้วยวิธีการคุมกำเนิด หรือวิธีการที่น่ารังเกียจยิ่งไปกว่านั้นเพื่อหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบต่อบุตรธิดา เช่นนี้ไม่ใช่คุณสมบัติทิพย์แต่เป็นคุณสมบัติมาร หากผู้ที่แม้จะเป็นคฤหัสถ์ต้องการให้ชีวิตทิพย์ก้าวหน้าต้องควบคุมชีวิตเพศสัมพันธ์ และไม่ควรมีบุตรหากไม่มีจุดมุ่งหมายเพื่อรับใช้องค์กฺฤษฺณ ถ้ามีบุตรธิดาที่จะมาอยู่ในกฺฤษฺณจิตสำนึกก็สามารถมีบุตรธิดาได้เป็นร้อยๆ แต่ถ้าหากไม่มีความสามารถทำเช่นนี้เราก็ไม่ควรตามใจตนเองเพียงเพื่อความสุขทางประสาทสัมผัสเท่านั้น

พิธีบูชา เป็นอีกรายการหนึ่งที่คฤหัสถ์พึงปฏิบัติ เพราะว่าพิธีบูชาจำเป็นต้องใช้เงินมาก พวกที่อยู่ในช่วงชีวิตอื่นๆ เช่น พฺรหฺมจรฺย, วานปฺรสฺถ และ สนฺนฺยาส จะไม่มีเงิน พวกท่านอยู่ด้วยการภิกขาจาร ดังนั้นการปฏิบัติพิธีบูชาต่างๆหมายไว้สำหรับคฤหัสถ์ซึ่งควรปฏิบัติพิธีบูชา อคฺนิ-โหตฺร ดังที่ได้สอนไว้ในวรรณกรรมพระเวท แต่ในปัจจุบันพิธีบูชาเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายสูงมาก เป็นไปไม่ได้ที่คฤหัสถ์จะสามารถปฏิบัติได้ พิธีบูชาที่ดีที่สุดแนะนำไว้สำหรับยุคนี้เรียกว่า สงฺกีรฺตน-ยชฺญ สงฺกีรฺตน-ยชฺญ หรือการสวดภาวนา หเร กฺฤษฺณ หเร กฺฤษฺณ กฺฤษฺณ กฺฤษฺณ หเร หเร / หเร ราม หเร ราม ราม ราม หเร หเร นี้ดีที่สุด และเป็นพิธีบูชาที่ประหยัดที่สุด ทุกๆคนสามารถนำไปปฏิบัติและได้รับประโยชน์ ฉะนั้นสามรายการนี้คือ การให้ทาน การควบคุมประสาทสัมผัสของตนเอง และการปฏิบัติพิธีบูชาหมายไว้สำหรับคฤหัสถ์

สฺวาธฺยาย การศึกษาคัมภีร์พระเวทหมายไว้สำหรับ พฺรหฺมจรฺย หรือชีวิตนักศึกษา พฺรหฺมจารี ควรถือเพศพรหมาจรรย์ ไม่ควรมีความสัมพันธ์กับสตรี และใช้จิตใจศึกษาวรรณกรรมพระเวทเพื่อพัฒนาความรู้ทิพย์เช่นนี้เรียกว่า สฺวาธฺยาย

ตป หรือความสมถะ หมายไว้โดยเฉพาะสำหรับชีวิตเกษียณ เราไม่ควรดำรงความเป็นคฤหัสถ์ตลอดชีวิตซึ่งต้องจำไว้เสมอว่ามีสี่ช่วงของชีวิตคือ พฺรหฺมจรฺย, คฺฤหสฺถ, วานปฺรสฺถ และ สนฺนฺยาส หลังจากชีวิตคฤหัสถ์หรือ คฺฤหสฺถ เราควรเกษียณ หากมีชีวิตอยู่หนึ่งร้อยปีเราควรใช้ยี่สิบห้าปีในชีวิตนักศึกษา ยี่สิบห้าปีในชีวิตคฤหัสถ์ ยี่สิบห้าปีในชีวิตเกษียณ และยี่สิบห้าปีในชีวิตสละโลก นี่คือกฎเกณฑ์ของหลักธรรมศาสนาแห่งพระเวท ผู้ชายเกษียณจากชีวิตคฤหัสถ์ต้องปฏิบัติความสมถะของร่างกาย ความสมถะของจิตใจ และความสมถะของลิ้น นั่นคือ ตปสฺย สังคม วรฺณาศฺรม-ธรฺม ทั้งหมดหมายไว้เพื่อ ตปสฺย ปราศจาก ตปสฺย หรือความสมถะจะไม่มีมนุษย์ผู้ใดสามารถได้รับอิสรภาพหลุดพ้น ทฤษฏีที่ว่าไม่มีความจำเป็นในชีวิตสมถะและคาดคะเนไปเรื่อยๆแล้วทุกสิ่งทุกอย่างจะดีเองนั้นทั้งวรรณกรรมพระเวทและ ภควัท-คีตา ไม่แนะนำ ทฤษฏีเหล่านี้ผลิตโดยนักทิพย์นิยมจอมอวดอ้างที่ต้องการมีลูกศิษย์มากๆ เพราะถ้าหากว่ามีข้อห้ามและกฎเกณฑ์ต่างๆผู้คนจะไม่ชอบ ดังนั้นพวกที่ต้องการมีสานุศิษย์มากๆในนามของศาสนา เพื่อเป็นการอวดเพียงอย่างเดียว โดยไม่ต้องมีกฎเกณฑ์อย่างถูกต้องสำหรับชีวิตนักศึกษา สำหรับชีวิตสาวก หรือสำหรับตนเอง วิธีการเช่นนี้คัมภีร์พระเวทนั้นไม่อนุมัติ

คุณสมบัติความเรียบง่ายของ พฺราหฺมณ ไม่เพียงเฉพาะช่วงชีวิตหนึ่งชีวิตใดที่ปฏิบัติตามหลักธรรมนี้ แต่ทุกๆคนไม่ว่าจะอยู่ใน พฺรหฺมจารี อาศฺรม, คฺฤหสฺถ อาศฺรม, วานปฺรสฺถ อาศฺรม หรือ สนฺนฺยาส อาศฺรม ทุกคนควรมีชีวิตเรียบง่ายและตรงไปตรงมา

อหึสา หมายความว่าไม่ทำให้การดำเนินชีวิตของสิ่งมีชีวิตใดต้องหยุดชะงักลง เราไม่ควรคิดว่าเนื่องจากละอองวิญญาณไม่มีวันถูกฆ่าแม้หลังจากการฆ่าร่างกายไปแล้วจึงไม่มีอันตรายในการฆ่าสัตว์เพื่อสนองประสาทสัมผัส ปัจจุบันนี้ผู้คนมัวเมากับการกินเนื้อสัตว์ถึงแม้ว่าจะมีอาหารต่างๆมากมาย เช่น ธัญพืช ผลไม้ และนม โดยไม่มีความจำเป็นต้องฆ่าสัตว์ คำสอนนี้มีไว้สำหรับทุกๆคน เมื่อไม่มีทางเลือกเราอาจฆ่าสัตว์แต่ต้องถวายในพิธีบูชา อย่างไรก็ดีเมื่อมีอาหารสำหรับมนุษย์มากมายบุคคลผู้ปรารถนาความเจริญก้าวหน้าในความรู้แจ้งทิพย์จึงไม่ควรเบียดเบียนสัตว์อื่น อหึสา ที่แท้จริงหมายความว่า ไม่ทำให้การดำเนินชีวิตของผู้ใดต้องหยุดชะงักลง สัตว์ต่างๆกำลังดำเนินไปในวิวัฒนาการแห่งชีวิตของตนเอง ด้วยการเปลี่ยนจากชีวิตสัตว์ประเภทหนึ่งไปเป็นสัตว์อีกประเภทหนึ่ง หากสัตว์ตัวนี้ถูกฆ่าการดำเนินชีวิตของมันก็สะดุดลง หากสัตว์อยู่ในร่างนี้มาหลายวันหรือหลายปีและถูกฆ่าโดยยังไม่ถึงเวลาอันควร มันก็ต้องกลับมาเกิดอีกครั้งหนึ่งในร่างแบบนี้เพื่อให้วันที่คงเหลืออยู่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ เพื่อได้รับการส่งเสริมไปสู่ชีวิตอีกเผ่าพันธุ์หนึ่ง ดังนั้นการดำเนินชีวิตของพวกมันไม่ควรสะดุดลงเพียงเพื่อสนองลิ้นของเราเช่นนี้เรียกว่า อหึสา

สตฺยมฺ คำนี้หมายความว่า ไม่ควรบิดเบือนความจริงเพื่อประโยชน์ส่วนตัวบางอย่าง ในวรรณกรรมพระเวทมีบางตอนที่ยากแต่ความหมายหรือจุดมุ่งหมายควรเรียนรู้จากพระอาจารย์ทิพย์ผู้เชื่อถือได้ นั่นคือวิธีการเพื่อความเข้าใจคัมภีร์พระเวท ศฺรุติ หมายความว่าควรสดับฟังจากผู้ที่เชื่อถือได้ เราไม่ควรตีความหมายในคำอธิบายต่างๆเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวของเราเอง มีคำอธิบาย ภควัท-คีตา มากมายที่ตีความหมายผิดไปจากฉบับเดิม ความหมายที่แท้จริงของคำควรแสดงออก จึงควรเรียนรู้จากพระอาจารย์ทิพย์ผู้เชื่อถือได้

อโกฺรธ หมายความว่าระงับความโกรธ แม้จะมีการยั่วโทสะเราควรอดทน เพราะเมื่อโกรธทำให้ทั่วทั้งเรือนร่างมีมลทิน ความโกรธเป็นผลผลิตของระดับตัณหาและราคะ ดังนั้นผู้สถิตในวิถีทิพย์ควรระงับตนเองจากความโกรธ อไปศุนมฺ หมายความว่าเราไม่ควรจับผิดหรือติเตียนผู้อื่นโดยไม่จำเป็น แน่นอนว่าการเรียกโจรว่าเป็นโจรไม่ใช่การจับผิด แต่การเรียกคนซื่อสัตว์สุจริตว่าเป็นโจรเป็นความผิดมหันต์ สำหรับผู้ต้องการความเจริญก้าวหน้าในชีวิตทิพย์ หฺรี หมายความว่าควรถ่อมตัวมาก และไม่ควรกระทำสิ่งที่น่ารังเกียจ อจาปลมฺ ความมั่นใจหมายความว่า ไม่ควรเร่าร้อนหรือหงุดหงิดกับความพยายามบางอย่าง ความพยายามในบางสิ่งบางอย่างอาจไม่ประสบผลสำเร็จ แต่ไม่ควรเสียใจเราควรทำความเจริญก้าวหน้าด้วยความอดทนและมั่นใจ

คำว่า เตช ที่ใช้ ที่นี้หมายไว้สำหรับ กฺษตฺริย กฺษตฺริย ควรมีความแข็งแรงมากอยู่เสมอเพื่อปกป้องผู้ที่อ่อนแอ กฺษตฺริย ไม่ควรทำตัวว่าเป็นผู้ไม่เบียดเบียนหากจำเป็นต้องเบียดเบียนจะต้องแสดงออก ในบางสถานการณ์ผู้ปราบศัตรูอาจให้อภัย และอาจยกโทษให้กับความผิดเล็กๆน้อยๆ

เศาจมฺ หมายความว่าความสะอาด ไม่เฉพาะแต่จิตใจและร่างกายเท่านั้นแต่รวมทั้งการติดต่อกับผู้อื่นด้วย หมายไว้โดยเฉพาะสำหรับพ่อค้าวาณิชซึ่งไม่ควรทำธุรกิจในตลาดมืด นาติ-มานิตา ไม่คาดหวังเกียรติยศ ใช้สำหรับ ศูทฺร หรือชนชั้นแรงงาน ตามคำสั่งสอนพระเวทพิจารณาว่าเป็นพวกต่ำสุดในสี่ชั้น พวกนี้ไม่ควรผยองกับเกียรติยศหรือชื่อเสียงที่ไม่จำเป็น และควรดำรงอยู่ในระดับของตนเองเป็นหน้าที่ของ ศูทฺร ที่ต้องแสดงความเคารพต่อชนชั้นที่สูงกว่าเพื่อรักษาสถานภาพของสังคม

คุณสมบัติทั้งยี่สิบหกประการที่กล่าวมานี้เป็นคุณสมบัติทิพย์ เราควรพัฒนาตามสถานภาพทางสังคมและอาชีพที่ต่างกันไป คำอธิบายก็คือ ถึงแม้ว่าสภาวะทางวัตถุจะมีความทุกข์หากคุณสมบัติเหล่านี้ได้รับการพัฒนาและฝึกฝนโดยมนุษย์ทุกชั้นวรรณะ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะค่อยๆเจริญขึ้นมาถึงระดับสูงสุดแห่งความรู้แจ้งทิพย์

โศลก 4

dambho darpo ’bhimānaś ca
krodhaḥ pāruṣyam eva ca
ajñānaṁ cābhijātasya
pārtha sampadam āsurīm
ทมฺโภ ทรฺโป ’ภิมานศฺ จ
โกฺรธห์ ปารุษฺยมฺ เอว จ
อชฺญานํ จาภิชาตสฺย
ปารฺถ สมฺปทมฺ อาสุรีมฺ
ทมฺภห์ — หยิ่งยะโส, ทรฺปห์ — จองหอง, อภิมานห์ — อวดดี, — และ, โกฺรธห์ — โกรธ, ปารุษฺยมฺ — เกรี้ยวกราด, เอว — แน่นอน, — และ, อชฺญานมฺ — อวิชชา, — และ, อภิชาตสฺย — ของผู้ที่เกิด, ปารฺถ — โอ้ โอรสพระนาง ปฺฤถา, สมฺปทมฺ — คุณสมบัติ, อาสุรีมฺ — ธรรมชาติมาร

คำแปล

ความจองหอง ความเย่อหยิ่ง ความอวดดี ความโกรธ ความเกรี้ยวกราด และความเขลา คุณสมบัติเหล่านี้เป็นของพวกที่มีธรรมชาติมาร โอ้ โอรสพระนาง ปฺฤถา

คำอธิบาย

ในโศลกนี้อธิบายถึงทางหลวงไปสู่นรก พวกมารต้องการแสดงให้เห็นว่าตนเองมีศาสนา และเจริญก้าวหน้าในศาสตร์ทิพย์ถึงแม้ไม่ปฏิบัติตามหลักธรรม และมีความหยิ่งจองหองเสมอกับการที่มีการศึกษาสูงหรือร่ำรวยมาก มารต้องการให้ผู้อื่นบูชาตนเอง และเรียกร้องให้เคารพนับถือพวกตนถึงแม้จะไม่สมควร และด้วยเรื่องเล็กน้อยก็จะโกรธมาก และพูดจาเกรี้ยวกราดไม่สุภาพโดยไม่รู้ว่าอะไรควรทำและอะไรไม่ควรทำ พวกมารทำทุกอย่างตามอำเภอใจ และมองไม่เห็นผู้ที่ควรเคารพนับถือ คุณสมบัติมารเหล่านี้ติดตามตัวมาตั้งแต่ตอนเริ่มต้นของร่างนี้ในครรภ์มารดา และเมื่อเจริญเติบโตขึ้นคุณสมบัติอันไม่เป็นมงคลทั้งหลายเหล่านี้จะปรากฏออกมา

โศลก 5

daivī sampad vimokṣāya
nibandhāyāsurī matā
mā śucaḥ sampadaṁ daivīm
abhijāto ’si pāṇḍava
ไทวี สมฺปทฺ วิโมกฺษาย
นิพนฺธายาสุรี มตา
มา ศุจห์ สมฺปทํ ไทวีมฺ
อภิชาโต ’สิ ปาณฺฑว
ไทวี — ทิพย์, สมฺปตฺ — ทรัพย์สิน, วิโมกฺษาย — หมายไว้เพื่อความหลุดพ้น, นิพนฺธาย — เพื่อพันธนาการ, อาสุรี — คุณสมบัติมาร, มตา — พิจารณาว่า, มา — ไม่, ศุจห์ — วิตก, สมฺปทมฺ — ทรัพย์สิน, ไทวีมฺ — ทิพย์, อภิชาตห์ — เกิดจาก, อสิ — เธอเป็น, ปาณฺฑว — โอ้ โอรสแห่ง ปาณฺฑุ

คำแปล

คุณสมบัติทิพย์นำมาซึ่งอิสรภาพหลุดพ้น ขณะที่คุณสมบัติมารทำให้ถูกพันธนาการ โอ้ โอรสแห่ง ปาณฺฑุ ไม่ต้องวิตก เพราะว่าเธอเกิดมาพร้อมกับคุณสมบัติทิพย์

คำอธิบาย

องค์ศฺรี กฺฤษฺณทรงให้กำลังใจ อรฺชุน ด้วยการบอกว่า อรฺชุน ทรงไม่ได้เกิดมาพร้อมกับคุณสมบัติมาร การที่มาร่วมในการต่อสู้ไม่ใช่มารเพราะ อรฺชุน ทรงได้พิจารณาถึงข้อดีและข้อเสีย ทรงพิจารณาว่าบุคคลที่เคารพนับถือ เช่น ภีษฺม และ โทฺรณ ควรถูกสังหารหรือไม่ ดังนั้นจึงไม่ได้ปฏิบัติภายใต้อิทธิพลของความโกรธ เกียรติยศที่ผิดๆหรือความเกรี้ยวกราดท่านจึงไม่มีคุณสมบัติมาร สำหรับทหารนักรบ กฺษตฺริย การยิงธนูไปที่ศัตรูพิจารณาว่าเป็นทิพย์และการละเว้นหน้าที่เช่นนี้เป็นมาร ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลที่ อรฺชุน ทรงควรเศร้าโศก ผู้ใดที่ปฏิบัติตามหลักธรรมในวรรณะชีวิตของตนที่ต่างกันไปเท่ากับสถิตในระดับทิพย์

โศลก 6

dvau bhūta-sargau loke ’smin
daiva āsura eva ca
daivo vistaraśaḥ prokta
āsuraṁ pārtha me śṛṇu
เทฺวา ภูต-สรฺเคา โลเก ’สฺมินฺ
ไทว อาสุร เอว จ
ไทโว วิสฺตรศห์ โปฺรกฺต
อาสุรํ ปารฺถ เม ศฺฤณุ
เทฺวา — สอง, ภูต-สรฺเคา — สิ่งมีชีวิตที่ถูกสร้างขึ้นมา, โลเก — ในโลก, อสฺมินฺ — นี้, ไทวห์ — เทพ, อาสุรห์ — มาร, เอว — แน่นอน, — และ, ไทวห์ — ทิพย์, วิสฺตรศห์ — ยาวมาก, โปฺรกฺตห์ — กล่าว, อาสุรมฺ — มาร, ปารฺถ — โอ้ โอรสพระนาง ปฺฤถา, เม — จากข้า, ศฺฤณุ — จงสดับฟัง

คำแปล

โอ้ โอรสพระนาง ปฺฤถา ในโลกนี้มีสิ่งมีชีวิตที่สร้างขึ้นมาสองพวก พวกหนึ่งเรียกว่า คนทิพย์ และอีกพวกหนึ่งเรียกว่า คนมาร ข้าได้อธิบายแก่เธอถึงคุณสมบัติทิพย์มามากแล้ว บัดนี้จงฟังคุณสมบัติมารจากข้า

คำอธิบาย

องค์ศฺรี กฺฤษฺณทรงให้ความมั่นใจแด่ อรฺชุน ว่าทรงเกิดมาพร้อมกับคุณสมบัติทิพย์ บัดนี้ทรงอธิบายถึงวิถีมาร พันธชีวิตแบ่งออกเป็นสองพวกในโลกนี้ พวกที่เกิดมาพร้อมกับคุณสมบัติทิพย์ ปฏิบัติตามหลักธรรมแห่งชีวิตหมายความว่า พวกนี้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระคัมภีร์และบุคคลผู้เชื่อถือได้ เราควรปฏิบัติหน้าที่ตามแสงสว่างแห่งพระคัมภีร์ที่เชื่อถือได้ ความคิดเห็นเช่นนี้เรียกว่าทิพย์ ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามหลักธรรมดังที่กำหนดไว้ในพระคัมภีร์และเป็นผู้ปฏิบัติตามอำเภอใจของตนเองเรียกว่ามาร เราไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากปฏิบัติตามหลักธรรมของพระคัมภีร์ ได้กล่าวไว้ในวรรณกรรมพระเวทว่า ทั้งคนทิพย์และคนมารเกิดจาก ปฺรชาปติ ข้อแตกต่างก็คือ พวกหนึ่งเชื่อฟังคำสั่งสอนพระเวทและอีกพวกหนึ่งไม่เชื่อฟัง

โศลก 7

pravṛttiṁ ca nivṛttiṁ ca
janā na vidur āsurāḥ
na śaucaṁ nāpi cācāro
na satyaṁ teṣu vidyate
ปฺรวฺฤตฺตึ จ นิวฺฤตฺตึ จ
ชนา น วิทุรฺ อาสุราห์
น เศาจํ นาปิ จาจาโร
น สตฺยํ เตษุ วิทฺยเต
ปฺรวฺฤตฺติมฺ — ปฏิบัติถูกต้อง, — เช่นกัน, นิวฺฤตฺติมฺ — ปฏิบัติไม่ถูกต้อง, — และ, ชนาห์ — บุคคล, — ไม่, วิทุห์ — รู้, อาสุราห์ — ของคุณสมบัติมาร, — ไม่เคย, เศาจมฺ — ความสะอาด, — ไม่, อปิ — เช่นกัน, — และ, อาจารห์ — พฤติกรรม, — ไม่เคย, สตฺยมฺ — สัจจะ, เตษุ — ในพวกเขา, วิทฺยเต — มี

คำแปล

พวกมารไม่รู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ ทั้งความสะอาด ความประพฤติที่ถูกต้อง หรือสัจจะจะไม่มีในหมู่มาร

คำอธิบาย

ในทุกสังคมมนุษย์ที่ศิวิไลจะมีกฎเกณฑ์จากพระคัมภีร์เป็นชุดที่ปฏิบัติตามตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะในหมู่ชาว อารฺยนฺ หรือพวกที่รับเอาวัฒนธรรมพระเวทมาปฏิบัติซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเป็นพวกที่มีวัฒนธรรมเจริญสูงสุด พวกที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระคัมภีร์ถือว่าเป็นมาร ดังนั้นได้กล่าวไว้ ที่นี้ว่าพวกมารไม่รู้กฎของพระคัมภีร์และไม่มีใจจะปฏิบัติตามนั้นส่วนใหญ่จะไม่รู้ แต่ถึงแม้บางคนรู้ก็ไม่มีแนวโน้มจะปฏิบัติตาม พวกมารไม่มีศรัทธาและไม่ยินดีปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระเวท เหล่ามารไม่มีความสะอาดทั้งภายนอกหรือภายใน เราควรรักษาร่างกายให้สะอาดด้วยการอาบน้ำ แปรงฟัน โกนหนวด เปลี่ยนเสื้อผ้า ฯลฯ อยู่เสมอ สำหรับความสะอาดภายในนั้นเราควรระลึกถึงพระนามอันศักดิ์สิทธิ์ขององค์ภควานฺเสมอ และสวดภาวนา หเร กฺฤษฺณ หเร กฺฤษฺณ กฺฤษฺณ กฺฤษฺณ หเร หเร / หเร ราม หเร ราม ราม ราม หเร หเร พวกมารไม่ชอบและไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์เพื่อความสะอาดทั้งภายนอกและภายในเหล่านี้

สำหรับความประพฤตินั้นมีกฎเกณฑ์มากมายที่ชี้นำพฤติกรรมมนุษย์ เช่น มนุ-สํหิตา ซึ่งเป็นกฎหมายของเผ่าพันธุ์มนุษย์ แม้จนกระทั่งปัจจุบันชาวฮินดูยังปฏิบัติตาม มนุ-สํหิตา กฎหมายมรดกและกฎหมายอื่นๆก็มาจากหนังสือเล่มนี้ ใน มนุ-สํหิตา ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่าสตรีไม่ควรได้รับเสรีภาพเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าสตรีควรถูกเก็บไว้เป็นทาสแต่พวกเธอเหมือนเด็กๆ พวกเด็กๆไม่ควรปล่อยเป็นอิสระแต่มิได้หมายความว่าเก็บพวกเด็กไว้เป็นทาส ปัจจุบันพวกมารละเลยคำสั่งสอนเหล่านี้และคิดว่าสตรีควรได้รับเสรีภาพเท่าเทียมกับบุรุษ อย่างไรก็ดีการกระทำเช่นนี้ไม่ได้ทำให้สภาวะสังคมโลกดีขึ้น อันที่จริงสตรีควรได้รับการปกป้องคุ้มครองในทุกระดับของชีวิต เช่น ได้รับความคุ้มครองจากบิดาในเยาว์วัย จากสามีตอนเป็นสาว และจากบุตรที่โตแล้วเมื่อยามชรา เช่นนี้เป็นพฤติกรรมที่เหมาะสมทางสังคมตาม มนุ-สํหิตา แต่การศึกษาปัจจุบันได้ออกอุบายแนวคิดทำให้ชีวิตสตรีผยองแบบผิดธรรมชาติ ดังนั้นการแต่งงานในปัจจุบันเป็นเพียงจินตนาการในสังคมมนุษย์ และสภาวะศีลธรรมของผู้หญิงปัจจุบันจึงไม่ค่อยดี ดังนั้นเหล่ามารไม่ยอมรับคำสั่งสอนที่เป็นสิ่งดีสำหรับสังคม และเนื่องจากไม่ปฏิบัติตามประสบการณ์ของนักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่และกฎเกณฑ์ที่เหล่านักปราชญ์ได้วางไว้สภาวะสังคมของคนมารจึงมีความทุกข์มาก

โศลก 8

asatyam apratiṣṭhaṁ te
jagad āhur anīśvaram
aparaspara-sambhūtaṁ
kim anyat kāma-haitukam
อสตฺยมฺ อปฺรติษฺฐํ เต
ชคทฺ อาหุรฺ อนีศฺวรมฺ
อปรสฺปร-สมฺภูตํ
กิมฺ อนฺยตฺ กาม-ไหตุกมฺ
อสตฺยมฺ — ไม่จริง, อปฺรติษฺฐมฺ — ไม่มีพื้นฐาน, เต — พวกเขา, ชคตฺ — ปรากฏการณ์ในจักรวาล, อาหุห์ — กล่าวว่า, อนีศฺวรมฺ — ไม่มีผู้ควบคุม, อปรสฺปร — ไม่มีสาเหตุ, สมฺภูตมฺ — เกิดขึ้น, กิมฺ อนฺยตฺ — ไม่มีสาเหตุอื่น, กาม-ไหตุกมฺ — อันเนื่องมาจากราคะเท่านั้น

คำแปล

พวกเขากล่าวว่าโลกนี้ไม่จริง ไม่มีรากฐาน ไม่มีพระผู้เป็นเจ้าควบคุม และกล่าวว่ามันผลิตมาจากความต้องการทางเพศ โดยไม่มีสาเหตุอื่นนอกจากราคะ

คำอธิบาย

ข้อสรุปของมารที่ว่าโลกเป็นสิ่งหลอกลวง ไม่มีเหตุและผล ไม่มีผู้ควบคุม ไม่มีจุดมุ่งหมาย ทุกสิ่งทุกอย่างไม่จริง พวกเขากล่าวว่าปรากฏการณ์ทางจักรวาลนี้เกิดขึ้นเนื่องมาจากความบังเอิญของการกระทำและปฏิกิริยาทางวัตถุ โดยไม่คิดว่าองค์ภควานฺทรงสร้างโลกเพื่อจุดมุ่งหมายบางประการ พวกนี้มีทฤษฎีของตนเองว่าโลกนี้เกิดขึ้นด้วยตัวมันเอง และไม่มีเหตุผลที่จะเชื่อว่ามีองค์ภควานฺอยู่เบื้องหลัง สำหรับพวกมารไม่มีข้อแตกต่างระหว่างวิญญาณและวัตถุ และไม่ยอมรับดวงวิญญาณสูงสุดทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเพียงวัตถุเท่านั้น จักรวาลทั้งหมดเข้าใจว่าเป็นอวิชชามหึมาก้อนหนึ่ง ตามแนวคิดของพวกนี้ทุกสิ่งทุกอย่างว่างเปล่า ปรากฏการณ์อะไรก็แล้วแต่ที่มีอยู่ก็เนื่องมาจากอวิชชาในการสำเหนียกของตนเอง เพราะเชื่ออย่างจริงจังว่าปรากฏการณ์อันหลากหลายทั้งหมดเป็นการแสดงออกของอวิชชา เหมือนกับในความฝันเราอาจสร้างหลายสิ่งหลายอย่างขึ้นมาซึ่งความจริงมันไม่ได้มี ดังนั้นเมื่อตื่นขึ้นเราจะเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเพียงความฝัน แต่อันที่จริงถึงแม้ว่าพวกมารกล่าวว่าชีวิตคือความฝันแต่ก็มีความชำนาญมากในการรื่นรมย์อยู่กับความฝันนี้ ดังนั้นแทนที่จะได้รับความรู้กลับพัวพันมากยิ่งขึ้นในดินแดนแห่งความฝัน และสรุปว่าทารกเป็นเพียงผลแห่งเพศสัมพันธ์ระหว่างชายและหญิง โลกนี้เกิดขึ้นมาโดยปราศจากดวงวิญญาณ มันเป็นเพียงการรวมตัวกันของวัตถุที่ผลิตสิ่งที่มีชีวิตโดยไม่ต้องมีคำถามว่าจะมีดวงวิญญาณหรือไม่ เหมือนกับที่หลายชีวิตออกมาจากเหงื่อและออกมาจากซากศพโดยไม่มีสาเหตุ สิ่งมีชีวิตทั้งหมดก็ออกมาจากการรวมตัวกันทางวัตถุของปรากฏการณ์แห่งจักรวาล ฉะนั้นธรรมชาติวัตถุเป็นต้นเหตุของปรากฏการณ์นี้และไม่มีสาเหตุอื่น พวกเขาไม่เชื่อในคำดำรัสขององค์กฺฤษฺณใน ภควัท-คีตา ว่า มยาธฺยกฺเษณ ปฺรกฺฤติห์ สูยเต ส-จราจรมฺ “ภายใต้การกำกับของข้า โลกวัตถุทั้งหมดจึงเคลื่อนไหว” อีกนัยหนึ่งในหมู่มารไม่มีความรู้สมบูรณ์แห่งการสร้างโลก มารทุกรูปจะมีทฤษฏีบางอย่างโดยเฉพาะของตนเองตามความคิดของพวกนี้ การตีความหมายของพระคัมภีร์หนึ่งก็ดีเท่าๆกับพระคัมภีร์เล่มอื่น เพราะว่าพวกเขาไม่เชื่อในความเข้าใจมาตรฐานแห่งคำสั่งสอนของพระคัมภีร์

โศลก 9

etāṁ dṛṣṭim avaṣṭabhya
naṣṭātmāno ’lpa-buddhayaḥ
prabhavanty ugra-karmāṇaḥ
kṣayāya jagato ’hitāḥ
เอตำ ทฺฤษฺฏิมฺ อวษฺฏภฺย
นษฺฏาตฺมาโน ’ลฺป-พุทฺธยห์
ปฺรภวนฺตฺยฺ อุคฺร-กรฺมาณห์
กฺษยาย ชคโต ’หิตาห์
เอตามฺ — นี้, ทฺฤษฺฏิมฺ — วิสัยทัศน์, อวษฺฏภฺย — ยอมรับ, นษฺฏ — สูญเสีย, อาตฺมานห์ — พวกเขา, อลฺป-พุทฺธยห์ — ผู้ด้อยปัญญา, ปฺรภวนฺติ — เฟื่องฟู, อุคฺร-กรฺมาณห์ — ปฏิบัติในกิจกรรมที่เจ็บปวด, กฺษยาย — เพื่อการทำลาย, ชคตห์ — ของโลก, อหิตาห์ — ไม่เป็นประโยชน์

คำแปล

ปฏิบัติตามข้อสรุปเช่นนี้ พวกมารผู้หลงตนเอง ไม่มีปัญญา ปฏิบัติการอันไร้ประโยชน์อันน่าสะพรึงกลัว หมายไว้เพื่อทำลายโลก

คำอธิบาย

เหล่ามารปฏิบัติในกิจกรรมที่จะนำไปสู่ความหายนะของโลก องค์ภควานฺทรงตรัส ที่นี้ว่า พวกนี้ด้อยปัญญา นักวัตถุนิยมที่ไม่มีแนวคิดแห่งองค์ภควานฺคิดว่าพวกตนเจริญก้าวหน้า แต่ตาม ภควัท-คีตา นั้นพวกนี้ไม่มีปัญญาและไร้ซึ่งเหตุผล พยายามรื่นเริงกับโลกวัตถุนี้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้นจึงค้นคว้าบางสิ่งบางอย่างเพื่อสนองประสาทสัมผัสเสมอ การค้นคว้าของนักวัตถุนิยมเหล่านี้พิจารณาว่าเป็นความเจริญก้าวหน้าของวัฒนธรรมมนุษย์ แต่ผลก็คือผู้คนก้าวร้าวและโหดร้ายมากยิ่งขึ้น โหดร้ายต่อสัตว์และโหดร้ายต่อมนุษย์ด้วยกันเอง โดยไม่รู้ว่าควรประพฤติต่อผู้อื่นอย่างไร การฆ่าสัตว์โดดเด่นมากในหมู่มาร บุคคลเหล่านี้พิจารณาว่าเป็นศัตรูของโลกเพราะว่าในที่สุดพวกเขาจะค้นคว้าหรือสร้างบางสิ่งบางอย่างที่จะนำความหายนะมาสู่ทุกๆคน โดยทางอ้อมโศลกนี้ได้ทำนายการค้นพบระเบิดปรมณูซึ่งปัจจุบันนี้ทั่วทั้งโลกมีความภาคภูมิใจยิ่งนัก สงครามอาจเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้และอาวุธปรมณูเหล่านี้จะสร้างความหายนะ สิ่งเหล่านี้สร้างขึ้นมาเพื่อทำลายล้างโลกโดยเฉพาะและได้ระบุไว้ตรงนี้ เนื่องจากขาดคุณธรรมสังคมมนุษย์จึงค้นคว้าอาวุธเหล่านี้ซึ่งไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อสันติภาพหรือความเจริญรุ่งเรืองของโลก

โศลก 10

kāmam āśritya duṣpūraṁ
dambha-māna-madānvitāḥ
mohād gṛhītvāsad-grāhān
pravartante ’śuci-vratāḥ
กามมฺ อาศฺริตฺย ทุษฺปูรํ
ทมฺภ-มาน-มทานฺวิตาห์
โมหาทฺ คฺฤหีตฺวาสทฺ-คฺราหานฺ
ปฺรวรฺตนฺเต ’ศุจิ-วฺรตาห์
กามมฺ — ราคะ, อาศฺริตฺย — ไปพึ่ง, ทุษฺปูรมฺ — ไม่รู้จักพอ, ทมฺภ — หยิ่งยะโส, มาน — และชื่อเสียงที่ผิด, มท-อนฺวิตาห์ — ซึมซาบอยู่ในความอวดดี, โมหาตฺ — ด้วยความหลง, คฺฤหีตฺวา — รับ, อสตฺ — ไม่ถาวร, คฺราหานฺ — สิ่งต่างๆ, ปฺรวรฺตนฺเต — พวกเขาเฟื่องฟู, อศุจิ — กับสิ่งสกปรก, วฺรตาห์ — สาบาน

คำแปล

ไปพึ่งราคะที่ไม่รู้จักพอ และหมกมุ่นอยู่ในความเย่อยิ่ง และเกียรติยศชื่อเสียงจอมปลอม พวกมารผู้อยู่ในความหลงย่อมสาบานอยู่กับงานสกปรกเสมอ จมปรักอยู่กับสิ่งที่ไม่ถาวร

คำอธิบาย

ได้อธิบายความคิดของเหล่ามารตรงนี้ว่า จะไม่มีความพอใจกับราคะของตนเองซึ่งจะเพิ่มขึ้นและเพิ่มขึ้นด้วยความปรารถนาที่ไม่รู้จักพอกับการรื่นรมย์ทางวัตถุ ถึงแม้เต็มไปด้วยความวิตกกังวลตลอดเวลาอันเนื่องมาจากไปยอมรับสิ่งที่ไม่ถาวร ด้วยความหลงจึงยังคงปฏิบัติกิจกรรมเช่นนี้โดยไม่มีความรู้ และไม่สามารถบอกได้ว่าตนเองกำลังเดินทางผิด ยอมรับเอาสิ่งที่ไม่ถาวรคนมารเหล่านี้สร้างพระเจ้าของตนเอง สร้างบทมนต์ของพวกตนขึ้นมาแล้วสวดตามนั้น ผลก็คือทำให้ยึดติดอยู่กับสองสิ่งมากยิ่งขึ้นคือ การรื่นรมย์ทางเพศ และการสะสมทรัพย์สมบัติทางวัตถุ คำว่า อศุจิ-วฺรตาห์ “คำสาบานที่ไม่สะอาด” มีความสำคัญมากในความสัมพันธ์กับประเด็นนี้ คนมารเหล่านี้หลงติดอยู่กับไวน์ ผู้หญิง การพนัน และการรับประทานเนื้อสัตว์เป็นประจำ สิ่งเหล่านี้คือ อศุจิ หรือนิสัยที่ไม่สะอาด ด้วยแรงกระตุ้นจากความยโสและชื่อเสียงที่ผิดๆพวกมารได้สร้างหลักการทางศาสนาขึ้นมา ซึ่งคำสั่งสอนพระเวทไม่รับรอง ถึงแม้มารเหล่านี้น่ารังเกียจที่สุดในโลก แต่ด้วยวิธีที่ผิดธรรมชาติโลกได้สร้างเกียรติยศชื่อเสียงผิดๆให้พวกเขา ถึงแม้กำลังถลำลงสู่นรกยังพิจารณาว่าพวกตนมีความเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมาก

โศลก 11-12

cintām aparimeyāṁ ca
pralayāntām upāśritāḥ
kāmopabhoga-paramā
etāvad iti niścitāḥ
จินฺตามฺ อปริเมยำ จ
ปฺรลยานฺตามฺ อุปาศฺริตาห์
กาโมปโภค-ปรมา
เอตาวทฺ อิติ นิศฺจิตาห์
āśā-pāśa-śatair baddhāḥ
kāma-krodha-parāyaṇāḥ
īhante kāma-bhogārtham
anyāyenārtha-sañcayān
อาศา-ปาศ-ศไตรฺ พทฺธาห์
กาม-โกฺรธ-ปรายณาห์
อีหนฺเต กาม-โภคารฺถมฺ
อนฺยาเยนารฺถ-สญฺจยานฺ
จินฺตามฺ — ความกลัวและความวิตกกังวล, อปริเมยามฺ — วัดไม่ได้, — และ, ปฺรลย-อนฺตามฺ อันทาม — ถึงจุดแห่งความตาย, อุปาศฺริตาห์ — เป็นที่พึ่ง, กาม-อุปโภค — การสนองประสาทสัมผัส, ปรมาห์ — เป้าหมายสูงสุดแห่งชีวิต, เอตาวตฺ — ดังนั้น, อิติ — เช่นนี้, นิศฺจิตาห์ — มีความแน่ใจ, อาศา-ปาศ — ปฏิบัติในเครือข่ายแห่งความหวัง, ศไตห์ — เป็นร้อยๆ, พทฺธาห์ — ถูกพันธนาการ, กาม — ราคะ, โกฺรธ — และความโกรธ, ปรายณาห์ — สถิตในความคิดนั้นเสมอ, อีหนฺเต — พวกเขาปรารถนา, กาม — ราคะ, โภค — สนองประสาทสัมผัส, อรฺถมฺ — เพื่อจุดมุ่งหมาย, อนฺยาเยน — ผิดกฎหมาย, อรฺถ — แห่งความร่ำรวย, สญฺจยานฺ — สะสม

คำแปล

พวกมารเชื่อว่าการสนองประสาทสัมผัสเป็นความจำเป็นพื้นฐานแห่งความศิวิไลของมนุษย์ ดังนั้นจึงมีความวิตกกังวลที่วัดไม่ได้จนกว่าชีวิตจะหาไม่ เขาถูกพันธนาการอยู่ในเครือข่ายแห่งความต้องการเป็นร้อยๆพันๆ ซึมซาบอยู่กับราคะและความโกรธ พวกมารสะสมเงินด้วยวิธีที่ผิดกฎหมายเพื่อสนองประสาทสัมผัส

คำอธิบาย

พวกมารยอมรับว่าการรื่นรมย์ทางประสาทสัมผัสเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดแห่งชีวิต และจะรักษาแนวคิดนี้จนกว่าจะตาย โดยไม่เชื่อในชีวิตหลังจากตายไปแล้วและไม่เชื่อว่าต้องไปอยู่ในร่างที่แตกต่างกันตามกรรม (กรฺม) หรือตามกิจกรรมที่ตนได้กระทำในโลกนี้ แผนการสำหรับชีวิตไม่เคยหมด พวกนี้วางแผนแล้วแผนเล่าซึ่งไม่มีวันจบสิ้น เรามีประสบการณ์โดยตรงกับบุคคลที่มีแนวคิดมารเช่นนี้ ซึ่งแม้ถึงเวลาตายยังถามหาแพทย์ให้ช่วยต่อชีวิตอีกสี่ปีเพราะว่าแผนของตนยังไม่เสร็จสมบูรณ์ คนโง่เช่นนี้ไม่รู้ว่าแพทย์ไม่สามารถต่ออายุให้แม้แต่วินาทีเดียว เมื่อคำสั่งมาถึงจะไม่มีการพิจารณาถึงความต้องการของมนุษย์ กฎแห่งธรรมชาติไม่อนุญาตแม้แต่วินาทีเดียว นอกเหนือไปจากที่เขาได้ถูกกำหนดไว้ให้รื่นรมย์

คนมารผู้ไม่มีความศรัทธาในองค์ภควานฺหรืออภิวิญญาณภายในใจตนเองทำบาปทุกอย่างเพื่อสนองประสาทสัมผัสของตน โดยไม่รู้ว่ามีพยานนั่งอยู่ภายในหัวใจอภิวิญญาณทรงดูกิจกรรมของปัจเจกวิญญาณ ดังที่ได้กล่าวไว้ใน อุปนิษทฺ ว่ามีนกสองตัวเกาะอยู่บนต้นไม้ต้นเดียวกัน นกตัวหนึ่งปฏิบัติการและได้รับความสุขหรือความทุกข์จากผลไม้ของต้น และนกอีกตัวหนึ่งทรงเป็นพยาน แต่มารไม่มีความรู้ในคัมภีร์พระเวทและไม่มีความศรัทธา ดังนั้นจึงรู้สึกเป็นอิสระที่จะทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อสนองประสาทสัมผัสไม่ว่าผลที่ตามมาจะเป็นเช่นไร

โศลก 13-15

idam adya mayā labdham
imaṁ prāpsye manoratham
idam astīdam api me
bhaviṣyati punar dhanam
อิทมฺ อทฺย มยา ลพฺธมฺ
อิมํ ปฺราปฺเสฺย มโนรถมฺ
อิทมฺ อสฺตีทมฺ อปิ เม
ภวิษฺยติ ปุนรฺ ธนมฺ
asau mayā hataḥ śatrur
haniṣye cāparān api
īśvaro ’ham ahaṁ bhogī
siddho ’haṁ balavān sukhī
อเสา มยา หตห์ ศตฺรุรฺ
หนิเษฺย จาปรานฺ อปิ
อีศฺวโร ’หมฺ อหํ โภคี
สิทฺโธ ’หํ พลวานฺ สุขี
āḍhyo ’bhijanavān asmi
ko ’nyo ’sti sadṛśo mayā
yakṣye dāsyāmi modiṣya
ity ajñāna-vimohitāḥ
อาโฒฺย ’ภิชนวานฺ อสฺมิ
โก ’โนฺย ’สฺติ สทฺฤโศ มยา
ยกฺเษฺย ทาสฺยามิ โมทิษฺย
อิตฺยฺ อชฺญาน-วิโมหิตาห์
อิทมฺ — นี้, อทฺย — วันนี้, มยา — โดยข้า, ลพฺธมฺ — กำไร, อิมมฺ — นี้, ปฺราปฺเสฺย — ข้าจะกำไร, มนห์-รถมฺ — ตามความปรารถนาของข้า, อิทมฺ — นี้, อสฺติ — มี, อิทมฺ — นี้, อปิ — เช่นกัน, เม — ของข้า, ภวิษฺยติ — จะเพิ่มพูนขึ้นในอนาคต, ปุนห์ — อีกครั้งหนึ่ง, ธนมฺ — ทรัพย์สมบัติ, อเสา — นั้น, มยา — โดยข้า, หตห์ — ได้ถูกสังหาร, ศตฺรุห์ — ศัตรู, หนิเษฺย — ข้าจะสังหาร, — เช่นกัน, อปรานฺ — บุคคลอื่นๆ, อปิ — แน่นอน, อีศฺวรห์ — เจ้า, อหมฺ — ข้าเป็น, อหมฺ — ข้าคือ, โภคี — ผู้มีความสุขเกษมสำราญ, สิทฺธห์ — สมบูรณ์, อหมฺ — ข้าเป็น, พล-วานฺ — มีอำนาจ, สุขี — ความสุข, อาฒฺยห์ — ร่ำรวย, อภิชน-วานฺ — รายล้อมไปด้วยญาติๆที่มีสกุล, อสฺมิ — ข้าคือ, กห์ — ผู้ซึ่ง, อนฺยห์ — คนอื่น, อสฺติ — มี, สทฺฤศห์ — เหมือน, มยา — ข้า, ยกฺเษฺย — ข้าจะทำพิธีบูชา, ทาสฺยามิ — ข้าจะให้ทาน, โมทิเษฺย — ข้าจะรื่นเริง, อิติ — ดังนั้น, อชฺญาน — ด้วยอวิชชา, วิโมหิตาห์ — ลุ่มหลง

คำแปล

คนมารคิดว่า “วันนี้ข้ามีทรัพย์สมบัติมากแค่นี้ ข้าจะกอบโกยมากยิ่งขึ้นไปอีกตามแผนการ ปัจจุบันนี้เป็นของข้ามากเท่านี้และจะเพิ่มมากยิ่งๆขึ้นไป ในอนาคตคนนี้เป็นศัตรูข้า ข้าได้สังหารมันและศัตรูอื่นๆก็จะถูกสังหารเช่นเดียวกัน ข้าเป็นเจ้าของทุกสิ่งทุกอย่าง ข้าเป็นผู้มีความสุขเกษมสำราญ ข้าสมบูรณ์ ข้ามีอำนาจและมีความสุข ข้าเป็นคนที่รวยที่สุด รายล้อมไปด้วยญาติๆที่มีสกุลรุนชาติ ไม่มีผู้ใดมีอำนาจและมีความสุขเหมือนดังข้า ข้าจะทำพิธีบูชา ข้าจะทำบุญ และดังนั้นข้าจะรื่นเริง” เช่นนี้บุคคเหล่านี้ลุ่มหลงอยู่ในอวิชชา

โศลก 16

aneka-citta-vibhrāntā
moha-jāla-samāvṛtāḥ
prasaktāḥ kāma-bhogeṣu
patanti narake ’śucau
อเนก-จิตฺต-วิภฺรานฺตา
โมห-ชาล-สมาวฺฤตาห์
ปฺรสกฺตาห์ กาม-โภเคษุ
ปตนฺติ นรเก ’ศุเจา
อเนก — มากมาย, จิตฺต — ด้วยความวิตกกังวล, วิภฺรานฺตาห์ — สับสน, โมห — ของความหลง, ชาล — โดยเครือข่าย, สมาวฺฤตาห์ — รายล้อม, ปฺรสกฺตาห์ — ยึดติด, กาม-โภเคษุ — กับการสนองประสาทสัมผัส, ปตนฺติ — พวกเขาถลำลง, นรเก — สู่นรก, อศุเจา — สกปรก

คำแปล

ดังนั้นจึงสับสนอยู่กับความวิตกกังวลมากมาย และถูกพันธนาการอยู่ในเครือข่ายแห่งความหลง พวกเขายึดติดอย่างเหนียวแน่นมากกับความรื่นเริงทางประสาทสัมผัส และถลำลงสู่เหวนรก

คำอธิบาย

คนมารไม่รู้จักพอกับความต้องการที่จะได้เงินมาไม่มีวันเพียงพอ คิดเพียงแต่ว่าปัจจุบันนี้ทรัพย์สินของตนเองมีอยู่เท่าไรและวางแผนที่จะใช้ทรัพย์สินเหล่านี้ให้เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงไม่ลังเลที่จะกระทำบาปใดๆ ดังนั้นเขาจึงทำธุรกิจในตลาดมืดที่ผิดกฎหมายเพื่อสนองประสาทสัมผัส ลุ่มหลงอยู่กับทรัพย์สมบัติที่มีอยู่แล้ว เช่น ที่ดิน ครอบครัว บ้าน และตัวเลขในธนาคาร และวางแผนที่จะพัฒนามันไปเรื่อยๆ มีความเชื่อในพลังความสามารถของตนเองโดยไม่รู้ว่าสิ่งที่ได้มานั้นก็เนื่องมาจากบุญเก่าในอดีตจึงได้รับโอกาสสะสมสิ่งของเหล่านี้ แต่เขาไม่มีแนวคิดถึงเหตุในอดีตเพียงแต่คิดว่าทรัพย์สมบัติที่สะสมได้อย่างมหาศาลทั้งหมดนี้ก็เนื่องมาจากความพยายามของตนเอง คนมารเชื่อในพลังความสามารถในการทำงานของตนแต่ไม่เชื่อในกฎแห่งกรรม ตามกฎแห่งกรรมกล่าวว่ามนุษย์เกิดในตระกูลสูง ร่ำรวย มีการศึกษาดี หรือมีความสวยงามมากก็เนื่องมาจากผลบุญในอดีต พวกมารคิดว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นเหตุบังเอิญ และเนื่องมาจากพลังความสามารถส่วนตัวพวกเขาไม่สามารถรู้ถึงการจัดการที่อยู่เบื้องหลังผู้คนอันหลากหลายที่มีความสวยงาม และการศึกษาทั้งหมดนี้ผู้ใดที่มาแข่งขันกับคนมารเช่นกันจะเป็นศัตรูของเขา มีคนมารอยู่มากมายและมารแต่ละคนจะเป็นศัตรูกับมารคนอื่นๆ ความเป็นปรปักษ์กันนี้ลุ่มลึกมากยิ่งขึ้นระหว่างบุคคล ระหว่างครอบครัว ระหว่างสังคม และในที่สุดระหว่างชาติ ดังนั้นจึงมีการต่อสู้กันเสมอทั้งสงครามและความเป็นปรปักษ์มีอยู่ทั่วโลก

มารแต่ละคนคิดว่าตนเองควรมีชีวิตอยู่ด้วยการเสียสละของคนอื่นทั้งหมด โดยทั่วไปคนมารคิดว่าตัวเองเป็นพระผู้เป็นเจ้าสูงสุด และครูมารสอนสาวกของตนว่า “ทำไมพวกเจ้าเสาะแสวงหาพระเจ้าที่อื่น พวกเจ้าทั้งหมดเป็นพระเจ้า พวกเจ้าชอบอะไรเจ้าก็ทำได้ อย่าไปเชื่อในพระเจ้าโยนพระเจ้าทิ้งไปเสีย พระเจ้าตายแล้ว” เหล่านี้คือคำสั่งสอนของพวกมาร

ถึงแม้ว่าคนมารเห็นคนอื่นมีความร่ำรวยและมีอิทธิพลเท่าๆกัน หรือแม้มากกว่าก็ยังคิดว่าไม่มีผู้ใดรวยไปกว่าตน และไม่มีผู้ใดมีอิทธิพลมากไปกว่าตน สำหรับการส่งเสริมไปสู่ระบบดาวเคราะห์ที่สูงกว่ามารไม่เชื่อในการปฏิบัติ ยชฺญ หรือการบูชา เหล่ามารคิดจะผลิตวิธี ยชฺญ ของตนเอง และเตรียมเครื่องจักรกลบางอย่างที่จะสามารถนำพาพวกตนไปถึงดาวเคราะห์ที่สูงกว่าดวงใดก็ได้ ตัวอย่างที่ดีของคนมารเช่นนี้คือ ราวณ (ทศกรรณ์) ผู้เสนอนโยบายแก่ผู้คนว่าจะเตรียมบันไดซึ่งไม่ว่าใครก็สามารถไปถึงสรวงสวรรค์ได้โดยไม่ต้องปฏิบัติพิธีบูชาดังที่ได้กำหนดไว้ในคัมภีร์พระเวท ในทำนองเดียวกันในยุคปัจจุบันคนมารเหล่านี้พยายามไปยังระบบดาวเคราะห์ที่สูงกว่าด้วยการเตรียมเครื่องจักรกล เหล่านี้คือตัวอย่างแห่งความสับสน ผลก็คือโดยไม่รู้ตัวพวกมารกำลังถลำลงสู่เหวนนรก ที่นี้คำสันสกฤต โมห-ชาล มีความสำคัญมาก ชาล หมายความถึง “แห” เหมือนกับปลาที่อยู่ในร่างแหไม่มีทางที่จะหลุดออกมาได้

โศลก 17

ātma-sambhāvitāḥ stabdhā
dhana-māna-madānvitāḥ
yajante nāma-yajñais te
dambhenāvidhi-pūrvakam
อาตฺม-สมฺภาวิตาห์ สฺตพฺธา
ธน-มาน-มทานฺวิตาห์
ยชนฺเต นาม-ยชฺไญสฺ เต
ทมฺเภนาวิธิ-ปูรฺวกมฺ
อาตฺม-สมฺภาวิตาห์ — ความกระหยิ่มใจ, สฺตพฺธาห์ — ถือดี, ธน-มาน — ทรัพย์สมบัติและเกียรติยศที่ผิด, มท — ในความหลง, อนฺวิตาห์ — ซึมซาบ, ยชนฺเต — พวกเขาทำพิธีบูชา, นาม — เพียงชื่อเท่านั้น, ยชฺไญห์ — ด้วยพิธีบูชา, เต — พวกเขา, ทมฺเภน — ด้วยความหยิ่งยะโส, อวิธิ-ปูรฺวกมฺ — โดยไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ใดๆ

คำแปล

ด้วยความกระหยิ่มใจและถือดีเสมอ หลงอยู่กับความร่ำรวย และเกียรติยศชื่อเสียงที่ผิดๆ บางครั้งพวกมารกระทำพิธีบูชาด้วยความภาคภูมิใจ ทำไปเพียงเพื่อให้ได้ชื่อเท่านั้น แต่ไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ใดๆ

คำอธิบาย

คิดว่าตนเองเป็นทุกสิ่งทุกอย่างโดยไม่สนใจกับผู้ที่เชื่อถือได้หรือพระคัมภีร์ เหล่ามารบางครั้งปฏิบัติพิธีที่สมมติว่าเป็นพิธีทางศาสนา หรือพิธีการบูชาเนื่องจากไม่เชื่อในผู้ที่เชื่อถือได้พวกเขาถือดีมาก เป็นเช่นนี้เนื่องจากความหลงที่มีสาเหตุมาจากการสะสมทรัพย์สมบัติ และเกียรติยศชื่อเสียงที่ผิดๆ บางครั้งมารเหล่านี้แสดงบทเป็นนักเทศน์นำพาผู้คนไปในทางที่ผิด และมีชื่อเสียงในฐานะนักปฏิรูปทางศาสนา หรือในฐานะอวตารแห่งพระเจ้า พวกเขาอวดแสดงพิธีสังเวยบูชาต่างๆหรือบูชาเหล่าเทวดา หรือผลิตพระเจ้าของพวกตนขึ้นมา คนธรรมดาสามัญโฆษณาว่าตนเองเป็นพระเจ้าและให้บูชาพวกตน จากการกระทำของคนโง่เขลาเหล่านี้และยังพิจารณาว่าตนเองเจริญในหลักธรรมแห่งศาสนาหรือในหลักธรรมแห่งความรู้ทิพย์ นุ่งห่มแบบนักบวชสละโลกแต่ปฏิบัติตัวเหลวใหลนานัปการในคาบนักบวชนี้ อันที่จริงมีกฎข้อห้ามมากมายสำหรับผู้ที่สละโลกแล้ว อย่างไรก็ดีเหล่ามารไม่สนใจต่อกฎเกณฑ์เหล่านี้คิดว่าวิถีทางใดก็แล้วแต่ที่ตนสามารถสร้างขึ้นมาก็เป็นวิถีทางของตนเอง เพราะไม่มีวิถีทางมาตรฐานที่จะปฏิบัติตาม คำว่า อวิธิ-ปูรฺวกมฺ หมายความว่าไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ข้อห้ามต่างๆได้เน้นไว้โดยเฉพาะตรงที่นี้ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเสมอเนื่องจากอวิชชาและความหลง

โศลก 18

ahaṅkāraṁ balaṁ darpaṁ
kāmaṁ krodhaṁ ca saṁśritāḥ
mām ātma-para-deheṣu
pradviṣanto ’bhyasūyakāḥ
อหงฺการํ พลํ ทรฺปํ
กามํ โกฺรธํ จ สํศฺริตาห์
มามฺ อาตฺม-ปร-เทเหษุ
ปฺรทฺวิษนฺโต ’ภฺยสูยกาห์
อหงฺการมฺ — อหังการ, พลมฺ — อำนาจ, ทรฺปมฺ — ความหยิ่งยโส, กามมฺ — ราคะ, โกฺรธมฺ — ความโกรธ, — เช่นกัน, สํศฺริตาห์ — ไปพึ่ง, มามฺ — ข้า, อาตฺม — ในพวกเขาเอง, ปร — และในผู้อื่น, เทเหษุ — ร่างกาย, ปฺรทฺวิษนฺตห์ — หมิ่นประมาท, อภฺยสูยกาห์ — อิจฉาริษยา

คำแปล

สับสนด้วยอหังการ อำนาจ ความยโส ราคะ และความโกรธ เหล่ามารอิจฉาริษยาบุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้า ผู้ทรงประทับอยู่ภายในร่างกายของตนเอง และในร่างกายของบุคคลอื่นๆ และหมิ่นประมาทศาสนาที่แท้จริง

คำอธิบาย

คนมารต่อต้านความยิ่งใหญ่ขององค์ภควานฺเสมอ ไม่เชื่อในพระคัมภีร์ อิจฉาริษยาทั้งพระคัมภีร์และความมีอยู่ของบุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้า สาเหตุก็เนื่องมาจากสิ่งที่สมมติว่าเป็นเกียรติยศ ทรัพย์สมบัติและอำนาจที่ตนสะสมโดยไม่รู้ว่าชาตินี้เป็นการเตรียมตัวเพื่อชาติหน้า เมื่อไม่รู้เช่นนี้อันที่จริงเขาอิจฉาริษยาตนเองรวมทั้งบุคคลอื่นๆด้วย เขาก้าวร้าวต่อร่างกายของผู้อื่นและตนเอง ไม่สนใจต่อการควบคุมสูงสุดของบุคลิกภาพแห่งพระเจ้า เนื่องจากไม่มีความรู้ และจากการอิจฉาริษยาพระคัมภีร์ และบุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้าเขาจะโต้เถียงเกี่ยวกับความมีอยู่ขององค์ภควานฺอย่างผิดๆ และปฏิเสธความเชื่อถือได้ของพระคัมภีร์ คิดว่าตัวเองมีอิสระและมีอำนาจในการกระทำทุกสิ่งทุกอย่าง คิดว่าเนื่องจากไม่มีผู้ใดมีอำนาจ มีกำลัง หรือความร่ำรวยเทียบเท่าตนเอง จึงสามารถทำสิ่งใดก็ได้และจะไม่มีผู้ใดสามารถหยุดยั้งเขาได้ ถ้าหากว่ามีศัตรูผู้อาจตรวจสอบความก้าวหน้าในกิจกรรมสนองประสาทสัมผัสของตนก็จะวางแผนใช้อำนาจขจัดศัตรูคนนี้เสีย

โศลก 19

tān ahaṁ dviṣataḥ krūrān
saṁsāreṣu narādhamān
kṣipāmy ajasram aśubhān
āsurīṣv eva yoniṣu
ตานฺ อหํ ทฺวิษตห์ กฺรูรานฺ
สํสาเรษุ นราธมานฺ
กฺษิปามฺยฺ อชสฺรมฺ อศุภานฺ
อาสุรีษฺวฺ เอว โยนิษุ
ตานฺ — เหล่านั้น, อหมฺ — ข้า, ทฺวิษตห์ — อิจฉาริษยา, กฺรูรานฺ — มุ่งร้าย, สํสาเรษุ — ในมหาสมุทรแห่งความเป็นอยู่ทางวัตถุ, นร-อธมานฺ — ต่ำสุดแห่งมนุษยชาติ, กฺษิปามิ — ข้าส่ง, อชสฺรมฺ — ชั่วกัลปวสาน, อศุภานฺ — อัปมงคล, อาสุรีษุ — มาร, เอว — แน่นอน, โยนิษุ — ในครรภ์

คำแปล

พวกที่อิจฉาริษยาและมุ่งร้ายเป็นผู้ที่ต่ำสุดในหมู่มนุษย์ ข้าโยนพวกเขาไปในมหาสมุทรแห่งความเป็นอยู่ทางวัตถุ ไปอยู่ในเผ่าพันธุ์ชีวิตมารต่างๆชั่วกัลปวสาน

คำอธิบาย

โศลกนี้นั้นการวางแต่ละปัจเจกวิญญาณไปในเฉพาะร่างเป็นสิทธิพิเศษแห่งความปรารถนาขององค์ภควานฺ คนมารอาจไม่ตกลงยอมรับอำนาจสูงสุดขององค์ภควานฺ และเป็นความจริงที่ว่าเขาอาจกระทำตามความพึงพอใจของตนเอง แต่ในชาติหน้าจะต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของบุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้าไม่ใช่ขึ้นอยู่กับตนเอง ใน ศฺรีมทฺ-ภาควตมฺ ภาคสามได้กล่าวไว้ว่าปัจเจกวิญญาณหลังจากตายไปจะถูกจับไปอยู่ในครรภ์ของมารดา ซึ่งได้รับร่างกายนั้นๆภายใต้การควบคุมของพลังอำนาจที่สูงกว่า ดังนั้นในความเป็นอยู่ทางวัตถุเราพบเผ่าพันธุ์ชีวิตมากมาย เช่น สัตว์ แมลงมนุษย์ ฯลฯ ทั้งหมดถูกจัดการโดยพลังอำนาจที่สูงกว่าไม่ใช่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ สำหรับพวกมารได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนตรงนี้ว่าจะถูกส่งไปอยู่ในครรภ์ของพวกมารชั่วกัลปวสาน ดังนั้นพวกเขายังคงเป็นมนุษย์ต่ำสุดที่เต็มไปด้วยความอิจฉาริษยา เผ่าพันธุ์คนมารเหล่านี้เต็มไปด้วยราคะ ความก้าวร้าว เกลียดชังเสมอ และสกปรกมาก นักล่าสัตว์หลายประเภทในป่าถือว่าอยู่ในเผ่าพันธุ์ชีวิตมารเหล่านี้

โศลก 20

āsurīṁ yonim āpannā
mūḍhā janmani janmani
mām aprāpyaiva kaunteya
tato yānty adhamāṁ gatim
อาสุรีํ โยนิมฺ อาปนฺนา
มูฒา ชนฺมนิ ชนฺมนิ
มามฺ อปฺราไปฺยว เกานฺเตย
ตโต ยานฺตฺยฺ อธมำ คติมฺ
อาสุรีมฺ — มาร, โยนิมฺ — เผ่าพันธุ์, อาปนฺนาห์ — ได้รับ, มูฒาห์ — คนโง่, ชนฺมนิ ชนฺมนิ — เกิดซ้ำซาก, มามฺ — ข้า, อปฺราปฺย — โดยไม่บรรลุ, เอว — แน่นอน, เกานฺเตย — โอ้ โอรสพระนาง กุนฺตี, ตตห์ — หลังจากนั้น, ยานฺติ — ไป, อธมามฺ — ลงโทษ, คติมฺ — จุดหมายปลายทาง

คำแปล

ได้เกิดซ้ำซากในบรรดาเผ่าพันธุ์ชีวิตมาร โอ้ โอรสพระนาง กุนฺตี บุคคลเหล่านี้ไม่สามารถมาถึงข้า พวกเขาจะค่อยๆจมลงไปอยู่ในชีวิตที่น่ารังเกียจที่สุด

คำอธิบาย

เป็นที่รู้กันว่าองค์ภควานฺทรงมีพระเมตตาธิคุณมาก แต่ ที่นี้เราพบว่าพระองค์ทรงไม่เคยเมตตาต่อเหล่ามาร ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่าพวกมารถูกจับไปอยู่ในครรภ์ของมารคล้ายๆกันนี้ชาติแล้วชาติเล่า และไม่ได้รับพระเมตตาจากพระองค์พวกเขาตกต่ำลงเพื่อในที่สุดจะได้รับร่างกายคล้ายแมว สุนัข และสุกร ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่ามารเหล่านี้ไม่มีโอกาสได้รับพระเมตตาจากองค์ภควานฺไม่ว่าในช่วงไหนของชาติต่อๆไปก็ตาม ในคัมภีร์พระเวทได้กล่าวไว้เช่นกันว่า บุคคลเหล่านี้ค่อยๆจมลงไปกลายมาเป็นสุนัขและสุกร อาจจะเถียงเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่าองค์ภควานฺไม่ควรโฆษณาว่าทรงมีพระเมตตาเป็นล้นพ้น หากทรงไม่มีเมตตาต่อมารเหล่านี้ เพื่อเป็นการตอบคำถามใน เวทานฺต-สูตฺร เราพบว่าองค์ภควานฺทรงไม่เกลียดชังผู้ใด การจัดส่งพวกมาร อสุร ไปในสภาวะต่ำสุดของชีวิตเป็นเพียงอีกลักษณะหนึ่งแห่งพระเมตตาของพระองค์บางครั้ง อสุร ถูกองค์ภควานฺสังหาร แต่การสังหารนี้ก็เป็นสิ่งดีสำหรับพวกเขาเช่นกัน เพราะในวรรณกรรมพระเวทเราพบว่าผู้ใดที่ถูกองค์ภควานฺสังหารจะกลายมาเป็นผู้หลุดพ้น มีตัวอย่างในประวัติศาสตร์ของ อสุร มากมาย เช่น ราวณ, กํส, หิรณฺยกศิปุ ซึ่งองค์ภควานฺทรงปรากฏในอวตารต่างๆเพียงเพื่อสังหารพวกนี้ ดังนั้นพระเมตตาขององค์ภควานฺจึงแสดงให้แก่เหล่า อสุร หากพวกเขาโชคดีพอที่ถูกพระองค์สังหาร

โศลก 21

tri-vidhaṁ narakasyedaṁ
dvāraṁ nāśanam ātmanaḥ
kāmaḥ krodhas tathā lobhas
tasmād etat trayaṁ tyajet
ตฺริ-วิธํ นรกเสฺยทํ
ทฺวารํ นาศนมฺ อาตฺมนห์
กามห์ โกฺรธสฺ ตถา โลภสฺ
ตสฺมาทฺ เอตตฺ ตฺรยํ ตฺยเชตฺ
ตฺริ-วิธมฺ — ของสามอย่าง, นรกสฺย — แห่งนรก, อิทมฺ — นี้, ทฺวารมฺ — ประตู, นาศนมฺ — ทำลาย, อาตฺมนห์ — ของตัวเอง, กามห์ — ราคะ, โกฺรธห์ — ความโกรธ, ตถา — รวมทั้ง, โลภห์ — ความโลภ, ตสฺมาตฺ — ดังนั้น, เอตตฺ — เหล่านี้, ตฺรยมฺ — สาม, ตฺยเชตฺ — เขาต้องยกเลิก

คำแปล

มีสามประตูที่จะนำไปสู่นรก คือ ราคะ ความโกรธ และความโลภ ทุกคนที่มีสติสัมปชัญญะดีควรละทิ้งสิ่งเหล่านี้เสีย เพราะมันจะนำพาดวงวิญญาณให้ตกต่ำ

คำอธิบาย

จุดเริ่มต้นของชีวิตมารได้อธิบายไว้ ที่นี้ว่าเขาพยายามสนองราคะของตนเอง เมื่อไม่สมประสงค์ก็จะเกิดความโกรธและความโลภ คนที่มีสติสัมปชัญญะดีและไม่ปรารถนาถลำลงไปสู่เผ่าพันธุ์ชีวิตมารต้องพยายามสลัดทิ้งศัตรูทั้งสามตัวนี้ซึ่งจะมาสังหารตนเอง จนกระทั่งทำให้ไม่สามารถหลุดพ้นไปจากพันธนาการทางวัตถุนี้ได้

โศลก 22

etair vimuktaḥ kaunteya
tamo-dvārais tribhir naraḥ
ācaraty ātmanaḥ śreyas
tato yāti parāṁ gatim
เอไตรฺ วิมุกฺตห์ เกานฺเตย
ตโม-ทฺวาไรสฺ ตฺริภิรฺ นรห์
อาจรตฺยฺ อาตฺมนห์ เศฺรยสฺ
ตโต ยาติ ปรำ คติมฺ
เอไตห์ — จากสิ่งเหล่านี้, วิมุกฺตห์ — หลุดพ้น, เกานฺเตย — โอ้ โอรสพระนาง กุนฺตี, ตมห์-ทฺวาไรห์ — จากประตูแห่งอวิชชา, ตฺริภิห์ — สามประตู, นรห์ — บุคคล, อาจรติ — ปฏิบัติ, อาตฺมนห์ — เพื่อตัวเอง, เศฺรยห์ — พร, ตตห์ — หลังจากนั้น, ยาติ — เขาไป, ปรามฺ — สูงสุด, คติมฺ — จุดหมายปลายทาง

คำแปล

มนุษย์ผู้หลบหนีประตูทั้งสามที่นำไปสู่นรกนี้ได้ โอ้ โอรสพระนาง กุนฺตี ปฏิบัติสิ่งที่จะนำมาซึ่งความรู้แจ้งแห่งตน และค่อยๆบรรลุถึงจุดหมายปลายทางสูงสุด

คำอธิบาย

เราควรระวังเป็นอย่างมากเกี่ยวกับศัตรูทั้งสามตัวของชีวิตมนุษย์คือ ราคะ ความโกรธ และความโลภ บุคคลที่เป็นอิสระจากราคะ ความโกรธ และความโลภได้มากเพียงใดความเป็นอยู่ของเขาก็จะบริสุทธิ์มากเพียงนั้น และจะสามารถปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในวรรณกรรมพระเวทได้ จากการปฏิบัติตามหลักธรรมแห่งชีวิตมนุษย์เราจะค่อยๆยกระดับตนเอง และค่อยๆพัฒนามาสู่ระดับแห่งความรู้แจ้งทิพย์ ด้วยการปฏิบัติเช่นนี้หากโชคดีพอที่จะเจริญขึ้นมาถึงระดับแห่งกฺฤษฺณจิตสำนึกความสำเร็จของเราก็รับประกันได้ ในวรรณกรรมพระเวทมีวิถีทางแห่งการกระทำและผลของการกระทำซึ่งอธิบายเพื่อให้มาถึงระดับแห่งความบริสุทธิ์ วิธีการทั้งหมดมีพื้นฐานอยู่ที่การละทิ้งราคะ ความโลภ และความโกรธ จากการพัฒนาความรู้แห่งวิธีการนี้เราสามารถพัฒนามาถึงสถานภาพสูงสุดในความรู้แจ้งแห่งตน ความรู้แจ้งแห่งตนนี้มีความสมบูรณ์อยู่ในการอุทิศตนเสียสละรับใช้ ในการอุทิศตนเสียสละรับใช้นั้นสามารถรับประกันได้ถึงความหลุดพ้นของพันธวิญญาณ ดังนั้นตามระบบพระเวทมีสถาบันแห่งชีวิตสี่ระดับและสี่อาชีพ เรียกว่า ระบบวรรณะและระบบชีวิตทิพย์ มีกฎเกณฑ์ที่แตกต่างกันสำหรับวรรณะที่ไม่เหมือนกัน หรือระดับของสังคมที่ไม่เหมือนกัน และหากผู้ใดสามารถปฏิบัติตามเขาจะพัฒนามาถึงระดับสูงสุดแห่งความรู้แจ้งทิพย์โดยปริยาย และจะได้รับความหลุดพ้นอย่างไม่มีข้อสงสัย

โศลก 23

yaḥ śāstra-vidhim utsṛjya
vartate kāma-kārataḥ
na sa siddhim avāpnoti
na sukhaṁ na parāṁ gatim
ยห์ ศาสฺตฺร-วิธิมฺ อุตฺสฺฤชฺย
วรฺตเต กาม-การตห์
น ส สิทฺธิมฺ อวาปฺโนติ
น สุขํ น ปรำ คติมฺ
ยห์ — ผู้ใดซึ่ง, ศาสฺตฺร-วิธิมฺ — กฎของพระคัมภีร์, อุตฺสฺฤชฺย — ยกเลิก, วรฺตเต — ยังคง, กาม-การตห์ — ทำตามอำเภอใจในราคะ, — ไม่, สห์ — เขา, สิทฺธิมฺ — ความสมบูรณ์, อวาปฺโนติ — บรรลุ, — ไม่เคย, สุขมฺ — ความสุข, — ไม่, ปรามฺ — สูงสุด, คติมฺ — ระดับสมบูรณ์

คำแปล

ผู้ที่ยกเลิกคำสั่งสอนของพระคัมภีร์ และทำตามอำเภอใจของตนเองจะไม่บรรลุถึงความสมบูรณ์ ความสุข หรือจุดหมายปลายทางสูงสุด

คำอธิบาย

ดังที่ได้อธิบายไว้ก่อนหน้านี้ว่า ศาสฺตฺร-วิธิ หรือทิศทางของ ศาสฺตฺร ได้ให้ไว้แก่วรรณะต่างๆ และระดับต่างๆของสังคมมนุษย์ คาดว่าทุกคนปฏิบัติตามกฎเกณฑ์เหล่านี้ หากไม่ปฏิบัติตามและทำตามอำเภอใจ ตามราคะ ความโลภ และความปรารถนาของตนเองจะไม่มีวันสมบูรณ์ในชีวิต อีกนัยหนึ่งมนุษย์อาจรู้ทุกสิ่งทุกอย่างทั้งหลายเหล่านี้ทางทฤษฎี แต่หากไม่ได้นำไปใช้กับชีวิตของตนควรรู้ไว้ว่าเขาเป็นผู้ต่ำสุดของมนุษยชาติ ในรูปชีวิตมนุษย์สิ่งมีชีวิตคาดหวังว่าจะมีสติสัมปชัญญะดีพอ และปฏิบัติตามกฎที่ให้ไว้เพื่อพัฒนาชีวิตของตนเองไปสู่ระดับสูงสุด แต่หากไม่ปฏิบัติตามนั้นเท่ากับดึงตัวเองให้ตกต่ำลง ถ้าปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และตามหลักศีลธรรมแต่ในที่สุดมาไม่ถึงระดับแห่งความเข้าใจองค์ภควานฺก็เท่ากับความรู้ทั้งหมดสูญเปล่า และหากยอมรับความมีอยู่ขององค์ภควานฺแต่ไม่ปฏิบัติในการรับใช้พระองค์ความพยายามก็สูญเปล่า ดังนั้นเราควรค่อยๆพัฒนาตนเองมาสู่ระดับแห่งกฺฤษฺณจิตสำนึกและอุทิศตนเสียสละรับใช้ ตรงนี้ที่จะสามารถบรรลุถึงระดับแห่งความสมบูรณ์สูงสุดไม่ใช่การไปพัฒนาอย่างอื่น

คำว่า กาม-การตห์ สำคัญมาก บุคคลทั้งๆที่รู้ยังไปละเมิดกฎ คลุกคลีอยู่ในราคะทั้งๆที่รู้ และรู้ว่าสิ่งนี้ต้องห้ามแต่ก็ยังทำเช่นนี้เรียกว่า ทำตามอำเภอใจ หากรู้ว่าสิ่งนี้ควรทำแต่ไม่กระทำก็เรียกว่า ทำตามอำเภอใจ บุคคลเหล่านี้จะถูกพระองค์ลงโทษในที่สุด และจะไม่สามารถบรรลุถึงความสมบูรณ์ซึ่งหมายไว้สำหรับชีวิตมนุษย์ ชีวิตมนุษย์หมายไว้โดยเฉพาะเพื่อทำให้ความเป็นอยู่ของตนเองบริสุทธิ์ หากไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ก็จะไม่สามารถทำให้ตนเองบริสุทธิ์ และไม่สามารถบรรลุถึงระดับแห่งความสุขที่แท้จริงได้

โศลก 24

tasmāc chāstraṁ pramāṇaṁ te
kāryākārya-vyavasthitau
jñātvā śāstra-vidhānoktaṁ
karma kartum ihārhasi
ตสฺมาจฺ ฉาสฺตฺรํ ปฺรมาณํ เต
การฺยาการฺย-วฺยวสฺถิเตา
ชฺญาตฺวา ศาสฺตฺร-วิธาโนกฺตํ
กรฺม กรฺตุมฺ อิหารฺหสิ
ตสฺมาตฺ — ดังนั้น, ศาสฺตฺรมฺ — พระคัมภีร์, ปฺรมาณมฺ — หลักฐาน, เต — ของท่าน, การฺย — หน้าที่, อการฺย — และกิจกรรมต้องห้าม, วฺยวสฺถิเตา — ในความมั่นใจ, ชฺญาตฺวา — รู้, ศาสฺตฺร — ของพระคัมภีร์, วิธาน — กฎ, อุกฺตมฺ — ดังที่ประกาศ, กรฺม — งาน, กรฺตุมฺ — ทำ, อิห — ในโลกนี้, อรฺหสิ — เธอควร

คำแปล

ดังนั้นเขาควรเข้าใจว่า อะไรคือหน้าที่ และอะไรไม่ใช่หน้าที่ด้วยกฎแห่งพระคัมภีร์ เมื่อรู้กฎเกณฑ์เหล่านี้แล้ว เขาควรปฏิบัติเพื่อตนเองอาจค่อยๆพัฒนาขึ้น

คำอธิบาย

ดังที่ได้กล่าวไว้ในบทที่สิบห้า กฎเกณฑ์ทั้งหมดของพระเวทหมายไว้เพื่อให้รู้องค์กฺฤษฺณ หากเข้าใจองค์กฺฤษฺณจาก ภควัท-คีตา และมาสถิตในกฺฤษฺณจิตสำนึก ปฏิบัติในการอุทิศตนเสียสละรับใช้เราจะบรรลุถึงความสมบูรณ์สูงสุดแห่งความรู้ที่วรรณกรรมพระเวทเสนอไว้ องค์ไจตนฺย มหาปฺรภุ ทรงทำให้วิธีการนี้ง่ายมาก พระองค์ทรงขอร้องให้ผู้คนเพียงแต่สวดภาวนา หเร กฺฤษฺณ หเร กฺฤษฺณ กฺฤษฺณ กฺฤษฺณ หเร หเร / หเร ราม หเร ราม ราม ราม หเร หเร ปฏิบัติการอุทิศตนเสียสละรับใช้ต่อองค์ภควานฺ และรับประทานอาหารที่เหลือหลังจากถวายให้พระปฏิมาแล้ว ผู้ที่ปฏิบัติกิจกรรมแห่งการอุทิศตนเหล่านี้ทั้งหมดโดยตรงเข้าใจว่าได้ศึกษาวรรณกรรมพระเวททั้งหมดเรียบร้อยแล้ว และมาถึงจุดสรุปอย่างสมบูรณ์ แน่นอนว่าสำหรับบุคคลธรรมดาผู้ไม่อยู่ในกฺฤษฺณจิตสำนึกหรือไม่ปฏิบัติการอุทิศตนเสียสละรับใช้ต้องให้คำสอนของคัมภีร์พระเวทแนะนำว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ และควรปฏิบัติตามนั้นโดยไม่มีข้อขัดแย้ง เช่นนี้เรียกว่า ปฏิบัติตามหลักของ ศาสฺตฺร หรือพระคัมภีร์ ศาสฺตฺร ปราศจากข้อผิดพลาดสำคัญสี่ประการที่ปรากฏในพันธวิญญาณ คือ ประสาทสัมผัสไม่สมบูรณ์ ชอบโกง แน่นอนว่าต้องทำผิด และแน่นอนว่าต้องอยู่ในความหลง ข้อบกพร่องหลักสี่ประการในพันธชีวิตนี้ทำให้เขาไม่มีสิทธิ์มาร่างกฎเกณฑ์ต่างๆ ดังนั้นกฎเกณฑ์ต่างๆดังที่ได้อธิบายไว้ใน ศาสฺตฺร อยู่เหนือข้อบกพร่องเหล่านี้ นักบุญผู้ยิ่งใหญ่ อาจารฺย และดวงวิญญาณผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายยอมรับโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง

ในประเทศอินเดียมีพวกเข้าใจวิถีทิพย์หลายกลุ่ม โดยทั่วไปแบ่งเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มที่ไม่เชื่อในรูปลักษณ์ และกลุ่มที่เชื่อในรูปลักษณ์ อย่างไรก็ดีทั้งสองกลุ่มนี้ใช้ชีวิตตามหลักธรรมพระเวท หากปราศจากการปฏิบัติตามหลักธรรมของพระคัมภีร์เราจะไม่สามารถพัฒนาตนเองไปสู่ระดับที่สมบูรณ์ได้ ดังนั้นผู้ที่เข้าใจคำอธิบายของ ศาสฺตฺร โดยแท้จริงพิจารณาว่าโชคดี

ในสังคมมนุษย์การไม่ชอบหลักธรรมเพื่อให้เข้าใจบุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้าเป็นต้นเหตุแห่งการตกต่ำลงทั้งหมด นั่นคือความผิดอันยิ่งใหญ่ของชีวิตมนุษย์ ฉะนั้น มายา หรือพลังงานวัตถุขององค์ภควานฺสร้างปัญหาให้พวกเราในรูปของความทุกข์สามคำรบเสมอ พลังงานวัตถุนี้ประกอบด้วยสามระดับแห่งธรรมชาติวัตถุ เราต้องพัฒนาตนเองอย่างน้อยให้มาถึงระดับความดีก่อนที่วิถีทางการเข้าใจองค์ภควานฺจะเปิดขึ้น หากปราศจากการพัฒนาตนเองให้มาถึงมาตรฐานระดับความดีเราก็ยังคงอยู่ในอวิชชาและตัณหา ซึ่งเป็นต้นกำเนิดแห่งชีวิตมาร พวกที่อยู่ในระดับตัณหาและอวิชชาเยาะเย้ยพระคัมภีร์ เยาะเย้ยบุคคลผู้บริสุทธิ์ และเยาะเย้ยความเข้าใจที่ถูกต้องแห่งองค์ภควานฺ พวกเขาไม่เชื่อฟังคำสั่งสอนของพระอาจารย์ทิพย์ และไม่สนใจต่อกฎเกณฑ์ของพระคัมภีร์ถึงแม้ว่าได้สดับฟังถึงความประเสริฐดีเลิศแห่งการอุทิศตนเสียสละรับใช้ก็ไม่มีความสนใจ ดังนั้นพวกเขาจะผลิตวิถีทางเพื่อการพัฒนาของตนเองขึ้นมา สิ่งเหล่านี้คือข้อบกพร่องบางประการของสังคมมนุษย์ซึ่งนำไปสู่สภาวะชีวิตมาร อย่างไรก็ดีหากได้รับการแนะนำจากพระอาจารย์ทิพย์ผู้เชื่อถือได้และเหมาะสม ซึ่งสามารถนำเราไปสู่หนทางแห่งความเจริญก้าวหน้าไปสู่ระดับที่สูงกว่าชีวิตของเราก็จะประสบความสำเร็จ

ดังนั้นได้จบคำอธิบายโดย ภักดีเวดานตะ บทที่สิบหกของหนังสือ ศฺรีมทฺ ภควัท-คีตา ในหัวข้อเรื่อง ธรรมชาติทิพย์และ ธรรมชาติมาร