ภควัท-คีตา ฉบับเดิม

บทที่ สิบแปด

บทสรุปความสมบูรณ์แห่งการเสียสละ

โศลก 38

viṣayendriya-saṁyogād
yat tad agre ’mṛtopamam
pariṇāme viṣam iva
tat sukhaṁ rājasaṁ smṛtam
วิษเยนฺทฺริย-สํโยคาทฺ
ยตฺ ตทฺ อเคฺร ’มฺฤโตปมมฺ
ปริณาเม วิษมฺ อิว
ตตฺ สุขํ ราชสํ สฺมฺฤตมฺ
วิษย — ของอายตนะภายนอก, อินฺทฺริย — และประสาทสัมผัส, สํโยคาตฺ — จากการรวมกัน, ยตฺ — ซึ่ง, ตตฺ — นั้น, อเคฺร — ในตอนต้น, อมฺฤต-อุปมมฺ — เหมือนกับน้ำทิพย์, ปริณาเม — ในบั้นปลาย, วิษมฺ อิว — เหมือนยาพิษ, ตตฺ — นั้น, สุขมฺ — ความสุข, ราชสมฺ — ในระดับตัณหา, สฺมฺฤตมฺ — พิจารณาว่า

คำแปล

ความสุขที่ได้รับจากการมาสัมผัสระหว่างอายตนะภายในกับอายตนะภายนอกซึ่งดูเหมือนกับน้ำทิพย์ในตอนต้น แต่ในบั้นปลายกลายเป็นยาพิษ กล่าวว่าเป็นธรรมชาติแห่งตัณหา

คำอธิบาย

เมื่อชายหนุ่มและหญิงสาวพบกันประสาทสัมผัสจะฉุดชายหนุ่มให้ไปหาหญิงสาวสัมผัสกับนางและมีเพศสัมพันธ์กัน ในตอนต้นสิ่งนี้อาจเป็นที่รื่นรมย์มากของประสาทสัมผัส แต่ในบั้นปลายหรือหลังจากระยะเวลาหนึ่งจะกลายมาเป็นยาพิษ เมื่อทั้งคู่แยกทางหรือหย่าร้างจากกันจะมีความเศร้าโศกเสียใจ ความสุขเช่นนี้อยู่ในระดับตัณหาเสมอ ความสุขที่ได้รับจากการสัมผัสกันระหว่างอายตนะภายใน (ตา หู จมูก ลิ้น กาย) และอายตนะภายนอก (รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส) เป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์เสมอจึงควรหลีกเลี่ยงด้วยประการทั้งปวง