ภควัท-คีตา ฉบับเดิม

บทที่ สิบแปด

บทสรุปความสมบูรณ์แห่งการเสียสละ

โศลก 55

bhaktyā mām abhijānāti
yāvān yaś cāsmi tattvataḥ
tato māṁ tattvato jñātvā
viśate tad-anantaram
ภกฺตฺยา มามฺ อภิชานาติ
ยาวานฺ ยศฺ จาสฺมิ ตตฺตฺวตห์
ตโต มำ ตตฺตฺวโต ชฺญาตฺวา
วิศเต ตทฺ-อนนฺตรมฺ
ภกฺตฺยา — ด้วยการอุทิศตนเสียสละรับใช้ที่บริสุทธิ์, มามฺ — ข้า, อภิชานาติ — เขาสามารถรู้, ยาวานฺ — มากเท่าๆกับ, ยห์ จ อสฺมิ — เหมือนข้าเป็น, ตตฺตฺวตห์ — ในความจริง, ตตห์ — หลังจากนั้น, มามฺ — ข้า, ตตฺตฺวตห์ — ในความจริง, ชฺญาตฺวา — รู้, วิศเต — เขาเข้าไป, ตตฺ-อนนฺตรมฺ — หลังจากนั้น

คำแปล

บุคคลสามารถเข้าใจตามความเป็นจริงว่า ข้าคือองค์ภควาน ก็ด้วยการอุทิศตนเสียสละรับใช้เท่านั้น และเมื่อมาอยู่ในจิตสำนึกแห่งข้าโดยสมบูรณ์ด้วยการอุทิศตนเสียสละเช่นนี้ เขาจะสามารถเข้าไปในอาณาจักรแห่งองค์ภควาน

คำอธิบาย

องค์กฺฤษฺณบุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้าและส่วนที่สมบูรณ์ของพระองค์ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ด้วยการคาดคะเนทางจิตหรือโดยผู้ไม่ใช่สาวก หากผู้ใดปรารถนาจะเข้าใจองค์ภควานฺเขาต้องปฏิบัติการอุทิศตนเสียสละรับใช้ที่บริสุทธิ์ภายใต้การชี้นำของสาวกผู้บริสุทธิ์ มิฉะนั้นความจริงเกี่ยวกับองค์ภควานฺจะถูกซ่อนเร้นอยู่เสมอ ดังที่ได้กล่าวไว้ใน ภควัท-คีตา (7.25) ว่า นาหํ ปฺรกาศห์ สรฺวสฺย พระองค์ทรงไม่เปิดเผยกับทุกๆคน ไม่มีผู้ใดสามารถเข้าใจองค์ภควานฺด้วยการมาเป็นนักวิชาการ ผู้คงแก่เรียน หรือเป็นนักคาดคะเนทางจิต ผู้ที่ปฏิบัติในกฺฤษฺณจิตสำนึกและอุทิศตนเสียสละรับใช้จริงๆเท่านั้นจึงสามารถเข้าใจว่าองค์กฺฤษฺณคือใคร แม้ปริญญาบัตรจากมหาวิทยาลัยอะไรก็ช่วยไม่ได้

ผู้มีความชำนาญมากในศาสตร์แห่งองค์กฺฤษฺณมีสิทธิ์ที่จะเข้าไปในอาณาจักรทิพย์หรือพระตำหนักของพระองค์การกลายเป็น พฺรหฺมนฺ มิได้หมายความว่าสูญเสียบุคลิกลักษณะของตนเอง ตราบใดที่การอุทิศตนเสียสละรับใช้มีอยู่จะต้องมีองค์ภควานฺ มีสาวก และมีวิธีการอุทิศตนเสียสละรับใช้ ความรู้เช่นนี้ไม่สูญหายแม้หลังจากหลุดพ้นไปแล้ว การหลุดพ้นหมายถึงเป็นอิสระจากแนวคิดชีวิตทางวัตถุ ในชีวิตทิพย์มีข้อแตกต่างเช่นเดียวกันและมีความเป็นปัจเจกบุคคลเช่นเดียวกัน แต่อยู่ในกฺฤษฺณจิตสำนึกที่บริสุทธิ์ เราไม่ควรคิดผิดๆกับคำว่า วิศเต หรือ “เข้ามาในข้า” ว่าไปสนับสนุนทฤษฏีของผู้ที่เชื่อความเป็นหนึ่งเดียวกันว่าเราจะกลายมาเป็นเนื้อเดียวกันกับ พฺรหฺมนฺ อันไร้รูปลักษณ์ มันไม่ใช่คำว่า วิศเต หมายความว่าเขาสามารถเข้าไปในพระตำหนักขององค์ภควานฺในความเป็นปัจเจกของตนเองเพื่อปฏิบัติอย่างใกล้ชิดและถวายการรับใช้แด่พระองค์ตัวอย่างเช่น นกสีเขียวไปอยู่บนต้นไม้สีเขียว ไม่ใช่เพื่อกลายมาเป็นหนึ่งเดียวกับต้นไม้ แต่เพื่อรื่นเริงกับผลไม้บนต้น พวกไม่เชื่อในรูปลักษณ์โดยทั่วไปให้ตัวอย่างว่า แม่น้ำไหลลงไปในมหาสมุทรและกลืนหายไป เช่นนี้อาจเป็นเหตุแห่งความสุขสำหรับผู้ไม่เชื่อในรูปลักษณ์ แต่ผู้เชื่อในรูปลักษณ์จะรักษาความเป็นปัจเจกบุคคลของตนเองเหมือนกับสัตว์น้ำในมหาสมุทร เราจะพบสิ่งมีชีวิตมากมายภายใต้มหาสมุทรหากเราดำลึกลงไป ความคุ้นเคยกับผิวน้ำของมหาสมุทรไม่เพียงพอ เราจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับชีวิตสัตว์น้ำในส่วนลึกของมหาสมุทรอย่างสมบูรณ์ด้วย

ด้วยการอุทิศตนเสียสละรับใช้ที่บริสุทธิ์สาวกจึงสามารถเข้าใจคุณลักษณะทิพย์และความมั่งคั่งขององค์ภควานฺตามความเป็นจริง ดังที่ได้กล่าวไว้ในบทที่สิบเอ็ดว่า ด้วยการอุทิศตนเสียสละรับใช้เท่านั้นที่เราสามารถเข้าใจ ได้ยืนยันไว้ตรงนี้เช่นเดียวกันว่าเราสามารถเข้าใจบุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้าได้ด้วยการอุทิศตนเสียสละรับใช้ แล้วจึงเข้าไปในอาณาจักรของพระองค์

หลังจากบรรลุถึงระดับ พฺรหฺม-ภูต ที่เป็นอิสระจากแนวคิดทางวัตถุ การอุทิศตนเสียสละรับใช้เริ่มต้นจากการสดับฟังเกี่ยวกับองค์ภควานฺเมื่อสดับฟังเกี่ยวกับพระองค์ระดับ พฺรหฺม-ภูต ก็จะพัฒนาโดยปริยายและมลทินทางวัตถุ เช่น ความโลภและราคะ เพื่อรื่นเริงทางประสาทสัมผัสจะเลือนหายไป ขณะที่ราคะและความปรารถนาเลือนหายไปจากหัวใจของสาวกท่านจะยึดมั่นกับการรับใช้พระองค์มากยิ่งขึ้น และจากการยึดมั่นเช่นนี้ทำให้เป็นอิสระจากมลทินทางวัตถุ ชีวิตในระดับนั้นจึงสามารถเข้าใจองค์ภควานฺ นี่คือข้อความจาก ศฺรีมทฺ-ภาควตมฺ หลังจากหลุดพ้นแล้ววิธีแห่ง ภกฺติ หรือการอุทิศตนเสียสละรับใช้ทิพย์จะดำเนินต่อไป เวทานฺต-สูตฺร (4.1.12) ยืนยันดังนี้ อา-ปฺรายณาตฺ ตตฺราปิ หิ ทฺฤษฺฏมฺ หมายความว่าหลังจากหลุดพ้นแล้ววิธีแห่งการอุทิศตนเสียสละรับใช้จะดำเนินต่อไป ใน ศฺรีมทฺ-ภาควตมฺ ความหลุดพ้นแห่งการอุทิศตนเสียสละที่แท้จริงนิยามว่า สิ่งมีชีวิตกลับคืนมาสู่บุคลิกลักษณะของตนเองเหมือนดังเดิม สถานภาพเดิมแท้ได้อธิบายไว้แล้วว่า ทุกๆชีวิตเป็นละอองอณูขององค์ภควานฺ ดังนั้นสถานภาพเดิมแท้คือการรับใช้ หลังจากหลุดพ้นไปแล้วการรับใช้เช่นนี้ไม่มีวันหยุดลง อันที่จริงการหลุดพ้นคือเป็นอิสระจากแนวคิดชีวิตที่ผิด