ภควัท-คีตา ฉบับเดิม

บทที่ สี่

ความรู้ทิพย์

โศลก 2

evaṁ paramparā-prāptam
imaṁ rājarṣayo viduḥ
sa kāleneha mahatā
yogo naṣṭaḥ paran-tapa
เอวํ ปรมฺปรา-ปฺราปฺตมฺ
อิมํ ราชรฺษโย วิทุห์
ส กาเลเนห มหตา
โยโค นษฺฏห์ ปรนฺ-ตป
เอวมฺ — ดังนั้น, ปรมฺปรา — โดยปรัมปรา, ปฺราปฺตมฺ — ได้รับ, อิมมฺ — ศาสตร์นี้, ราช-ฤษยห์ — กษัตริย์ผู้ทรงธรรม, วิทุห์ — เข้าใจ, สห์ — ความรู้นั้น, กาเลน — กาลเวลาผ่านไป, อิห — ในโลกนี้, มหตา — ยิ่งใหญ่, โยคห์ — ศาสตร์แห่งความสัมพันธ์ระหว่างเรากับองค์ภควาน, นษฺฏห์ — กระจัดกระจาย, ปรมฺ-ตป — โอ้ อรฺชุน ผู้กำราบศัตรู

คำแปล

ฉะนั้น ศาสตร์สูงสุดนี้ได้รับสืบทอดผ่านทางสายปรัมปรา และกษัตริย์ผู้ทรงธรรมทรงเข้าใจตามสายนี้ แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปสายปรัมปราได้ขาดตอนลง จึงดูเหมือนว่าศาสตร์นี้สูญหายไป

คำอธิบาย

ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า คีตา มีไว้เฉพาะสำหรับ กฺษตฺริย ผู้ทรงธรรม เพราะว่า กฺษตฺริย ผู้ทรงธรรมเหล่านี้จะนำเจตนารมณ์ของ คีตา ไปบริหารปกครองประชากร แน่นอนว่า ภควัท-คีตา มิได้มีไว้สำหรับหมู่มารผู้ตัดทอนคุณค่าของ คีตา เพื่อไม่ให้ผู้ใดได้รับประโยชน์และจะออกอุบายต่างๆนานาเพื่อตีความหมายตามอำเภอใจของตนเอง ทันทีที่จุดมุ่งหมายเดิมเลือนหายไปอันเนื่องมาจากเจตนาของนักวิจารณ์ผู้ไร้คุณธรรมจึงมีความจำเป็นที่จะต้องสถาปนาสาย ปรมฺปรา ขึ้นมาใหม่ เมื่อห้าพันปีก่อนองค์ภควานฺทรงพบด้วยพระองค์เองว่าสายปรัมปราได้ขาดตอนลง ฉะนั้นพระองค์ทรงประกาศว่าจุดมุ่งหมายของ คีตา ดูเหมือนจะสูญหายไป ในทำนองเดียวกันปัจจุบันมีหนังสือ คีตา หลายเล่ม (โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ) แต่ก็เกือบทั้งหมดไม่ใช่ตามสายปรัมปราที่เชื่อถือได้ มีการแปลอย่างมากมายโดยนักวิชาการทางโลก แต่เกือบทั้งหมดนั้นบุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้ากฺฤษฺณทรงไม่ยอมรับ ถึงแม้ว่าพวกนักวิชาการทางโลกจะทำธุรกิจได้ดีจากคำดำรัสขององค์ศฺรี กฺฤษฺณจิตวิญญาณเช่นนี้เป็นมาร เพราะมารไม่เชื่อในองค์ภควานฺแต่ชอบหาความสุขกับทรัพย์สมบัติของพระองค์ เนื่องจากมีความต้องการหนังสือ คีตา ที่เป็นภาษาอังกฤษเป็นอย่างมากในระบบ ปรมฺปรา (สายปรัมปรา) จึงได้เกิดมีความพยายามตรงนี้เพื่อสนองความต้องการอันใหญ่หลวงนี้ ภควัท-คีตา ที่ได้รับการยอมรับเหมือนต้นฉบับเดิมเป็นสิ่งที่มีคุณประโยชน์อย่างมหาศาลต่อมนุษยชาติ แต่ถ้าหากว่าเรายอมรับ คีตา ว่าเป็นเพียงหนังสือตำราแห่งการคาดคะเนทางปรัชญาจะทำให้เสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์