องค์ภควาน คริชณะ
บทที่ 77
การสังหารดันทะวะคระ
วิดูระทะ และ โรมะฮารชะณะ
หลังจากชิชุพาละ ชาลวะ และ พะอุณดระคะ สิ้นชีพลง มารหน้าโง่อีกตนหนึ่งเป็นกษัตริย์ชื่อดันทะวะคระต้องการสังหารคริชณะเพื่อแก้แค้นในการตายของเพื่อนชาลวะ ด้วยความเกรี้ยวกราดจึงปรากฏตัวที่สมรภูมิโดยไร้อาวุธยุทโธปกรณ์ไม่มีแม้แต่ราชรถ อาวุธสิ่งเดียวที่มีอยู่คือความโกรธที่เผาไหม้เสมือนดั่งไฟสุมทรวง ถือคทาเพียงอันเดียวในมือ แต่มีพลังมหาศาล พอมันเคลื่อนไหวตัวทุกคนรู้สึกว่าโลกสั่นสะเทือนไปหมด คริชณะทรงเห็นดันทะวะคระเข้ามาด้วยอารมณ์ที่กล้าหาญมาก ลงจากราชรถทันที เป็นจรรยาบรรณทางทหารว่า การต่อสู้ควรเป็นไปอย่างยุติธรรม พอรู้ว่าดันทะวะคระมาคนเดียวและมีเพียงคทาอันเดียวเท่านั้น คริชณะทรงต้อนรับในลักษณะเดียวกันโดยเตรียมตัวด้วยคทาอันเดียวในมือ เมื่อคริชณะทรงปรากฏอยู่ต่อหน้า การย่างก้าวอย่างอาจหาญของดันทะวะคระสะดุดลงทันที เหมือนคลื่นที่รุนแรงในมหาสมุทรสะดุดลงเมื่อมากระทบฝั่ง
ดันทะวะคระ กษัตริย์แห่งคะรูชะ ยืนอย่างมั่นคงพร้อมคทา ตรัสต่อคริชณะดังนี้ “ยินดีและเป็นโอกาสดีมากที่เรามายืนอยู่ซึ่งๆ หน้า คริชณะที่รัก อันที่จริงเจ้าเป็นญาติทางฝ่ายมารดาข้า และข้าไม่ควรสังหาญเจ้าแบบนี้ แต่โชคร้ายที่เจ้าได้ทำผิดอย่างมหันต์โดยสังหารชาลวะเพื่อนข้า ยิ่งไปกว่านั้น ยังไม่พอใจต้องการมาสังหารข้าด้วย เช่นนี้ข้าจะฉีกเจ้าเป็นชิ้นๆ ด้วยคทาอันนี้ให้ตายคามือถึงแม้เป็นญาติกัน เจ้าคนโง่ เจ้าเป็นศัตรูร้ายกาจที่สุด วันนี้ ข้าต้องสังหารเจ้าเหมือนกับที่ต้องผ่าตัดฝีเพื่อเอาหนองออก ข้าเป็นหนี้บุญคุณเพื่อน คิดว่าหนี้บุญคุณของเพื่อนรักชาลวะนี้ต้องชดใช้้ด้วยการสังหารเจ้าเท่านั้น”
เหมือนกับควาญช้างที่พยายามควบคุมช้างโดยใช้สามง่ามตี ดันทะวะคระพยายามควบคุมคริชณะโดยใช้คำพูดรุนแรง หลังจากต่อว่าคริชณะแล้ว ก็เหวี่ยงคทาไปที่ศีรษะของคริชณะและส่งเสียงคำรามเหมือนสิงโต แม้ถูกฟาดด้วยคทาอย่างแรง คริชณะทรงมิได้ขยับแม้แต่น้อย และไม่รู้สึกเจ็บปวดเลย ทรงควงคทาโคโมดะคีอย่างคล่องแคล่วและเหวี่ยงไปที่หน้าอกของดันทะวะคระอย่างแรง จนหัวใจมันแยกออกเป็นสองส่วน ดันทะวะคระอาเจียรออกมาเป็นสายเลือด ผมกระเจิงล้มลงบนพื้นแขนขาแยกออก เพียงไม่กี่นาทีมันกลายเป็นซากศพกองอยู่บนพื้น หลังดันทะวะคระตาย เหมือนกับชิชุพาละ ดวงวิญญาณละอองอณูทิพย์ที่ส่องรัศมีออกมาจากร่างมาร และกลืนเข้าไปในพระวรกายของคริชณะอย่างน่าอัศจรรย์ ต่อหน้าผู้คนทั้งหลาย
ดันทะวะคระมีน้องชายชื่อวิดูระทะเต็มไปด้วยความโศกเศร้าที่พี่ชาย ดันทะวะคระตาย ด้วยความเศร้าและโกรธทำให้วิดูระทะหายใจแรง เพื่อแก้แค้นให้พี่ชาย วิดูระทะปรากฏต่อหน้าคริชณะพร้อมดาบและโล่ห์ในมือ ต้องการสังหารพระองค์ทันที ทรงเข้าใจว่าวิดูระทะกำลังหาโอกาสใช้ดาบฟัน คริชณะทรงใช้กงจักรสุดารชะนะที่คมกริบเหมือนมีดโกน ตัดหัววิดูระทะขาดพร้อมทั้งมงกุฏและต่างหูโดยไม่ล่าช้า
หลังจากสังหารชาลวะพร้อมทำลายเครื่องบินอัศจรรย์ จากนั้นสังหารดันทะวะคระและวิดูระทะ ในที่สุดคริชณะเสด็จเข้าเมืองดวาระคา เป็นไปไม่ได้ที่ผู้ใดจะสังหารวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่เหล่านี้นอกจากคริชณะ ดังนั้น เทวดาทั้งหลายจากสวรรค์และมนุษย์บนโลกสรรเสริญพระองค์ นักปราชญ์และนักพรตผู้ยิ่งใหญ่ ชาวสิดดะ กันดารวะ วิดยาดารระ วาสุคิ และมะฮานากะ นางฟ้าผู้สวยงาม ชาวพิทริโลคะ และชาวยัคชะ คินทะระ และชาระณะ ทั้งหมดโปรยดอกไม้ลงมา และร้องเพลงสรรเสริญชัยชนะของพระองค์ด้วยความยินดีปรีดา ชาวดวาระคาตกแต่งประดับทั่วทั้งเมืองเพื่อเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ พอคริชณะผ่านเมืองมา สมาชิกแห่งราชวงศ์วริชณิทั้งหมดและวีรบุรุษแห่งราชวงศ์ยะดุตามพระองค์ไปด้วยความเคารพอย่างสูง นี่คือส่วนหนึ่งแห่งลีลาทิพย์ของคริชณะผู้ทรงเป็นปรมาจารย์แห่งอิทธิฤทธิ์ทั้งปวง ทรงเป็นพระเจ้าแห่งปรากฏการณ์ในจักรวาลทั้งหมด พวกคนโง่เหมือนสัตว์ บางครั้งคิดว่า คริชณะเป็นผู้แพ้ อันที่จริงทรงเป็นองค์ภควานไม่มีผู้ใดสามารถเอาชนะได้ ทรงเป็นผู้ชนะทุกคนเสมอ เป็นภควานเพียงองค์เดียว ผู้อื่นปฏิบัติตามคำสั่งของพระองค์อย่างอ่อนน้อม
กาลครั้งหนึ่ง องค์ภควาน บะละรามะ ทรงได้ยินว่ามีการเตรียมตัวเพื่อต่อสู้กันระหว่างคู่ปรปักษ์ทั้งสองในราชวงศ์คุรุ ฝ่ายหนึ่งนำโดยดุรโยดะนะ และอีกฝ่ายหนึ่งนำโดยพาณดะวะ ทรงไม่ชอบแนวคิดว่าพระองค์เพียงผู้เดียวต้องเป็นผู้ประนีประนอมให้ยุติการต่อสู้ ทรงทนไม่ได้หากไม่มีส่วนร่วมกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จึงออกจากเมืองดวาระคาไป อ้างว่าจะไปเยืยนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เริ่มด้วยสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ชื่อว่าพระบาสัคเชทระ ทรงสรงน้าและพูดปลอบประโลมพราหมณ์ ณ ที่นั้น ถวายพิธีบูชาเหล่าเทวดา พิทา นักปราชญ์ผู้ยอดเยี่ยม และผู้คนโดยทั่วไป นี่คือพิธีกรรมพระเวทในการเยืยนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ จากนี้มีพราหมณ์ผู้เคารพติดตามไปด้วย บะละรามะทรงตัดสินใจไปเยี่ยมสถานที่ต่างๆ ริมฝั่งแม่น้าสะรัสวะที เช่น พริทูดะคะ บินดุสะระ ทริทะคูพะ สุดารชะนะทีรทะ วิชาละทีรทะ บระฮมะทีรทะ และชัคระทีรทะ นอกจากสถานที่เหล่านี้แล้วยังทรงเยี่ยมตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมดบนริมฝั่งแม่น้าสะรัสวะทีที่ไหลไปทางทิศตะวันออก ทรงเยี่ยมสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำคัญๆทั้งหมดตามริมฝั่งแม่น้ายะมุนา คงคา และทรงมาถึงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ไนมิชารัณยะ
สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ไนมิชารัณยะปัจจุบันยังปรากฏอยู่ที่ประเทศอินเดีย ในอดีตเป็นสถานที่สำหรับชุมนุมนักปราชญ์และนักบุญผู้ยอดเยี่ยม ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อให้เข้าใจชีวิตทิพย์และรู้แจ้งแห่งตน พอ องค์ภควาน บะละรามะ ทรงมาเยี่ยม มีการทำพิธีบูชายิ่งใหญ่โดยนักทิพย์นิยมที่มาชุมนุมกัน การชุมนุมกันเช่นนี้วางแผนกันเป็นเวลาพันๆ ปี เมื่อบะละรามะทรงมาถึง ทั้งหมดในที่ชุมนุม มีนักปราชญ์ผู้ยอดเยี่ยม นักพรต พราหมณ์ และนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ ลุกขึ้นจากที่นั่งต้อนรับบะละรามะอย่างสมเกียรติด้วยความเคารพทันที บางคนถวายความเคารพอย่างสูง พวกที่เป็นปราชญ์และพราหมณ์ผู้อาวุโสถวายพระพรด้วยการลุกขึ้นยืน หลังจากเสร็จพิธีการต้อนรับ ได้ถวายที่ประทับอย่างเหมาะสม ทุกคน ณ ที่นั้นยืนขึ้นบูชาบะละรามะเมื่อทรงปรากฏ เพราะทราบว่าทรงเป็นองค์ภควาน การศึกษาเรียนรู้หมายให้เข้าใจองค์ภควาน ฉะนั้น แม้บะละรามะทรงปรากฏบนโลกในฐานะคชัทริยะ พราหมณ์และนักปราชญ์ทั้งหมดได้ยืนขึ้นเพราะรู้ว่า องค์ภควาน บะละรามะ คือใคร
ด้วยความอับโชค หลังจากได้รับการบูชาและทรงประทับเรียบร้อยแล้ว องค์ภควาน บะละรามะ เห็นโรมะฮารชะณะสาวกของวิยาสะเดวะ (อวตารนักประพันธ์ขององค์ภควาน) ยังนั่งอยู่บนวิยาสาสะนะ ไม่ลุกขึ้นจากที่นั่งและไม่ถวายความเคารพเพราะนั่งอยู่บนวิยาสาสะนะ จึงคิดอย่างโง่ๆ ว่าตนเองยิ่งใหญ่กว่าองค์ภควาน ดังนั้น ไม่ยอมลงมาจากที่นั่งหรือก้มลงกราบพระองค์ บะละรามะทรงพิจารณาถึงประวัติของโรมะฮารชะณะ ว่าเกิดในครอบครัวสูทะ ที่ผสมกัน มารดาเป็นพราหมณ์ บิดาเป็นคชัทริยะ แม้โรมะฮารชะณะพิจารณาว่าบะละรามะเป็นคชัทริยะ ก็ไม่ควรนั่งสูงกว่า บะละรามะพิจารณาตามสภาพจากการเกิดของโรมะฮารชะณะ ไม่ควรรับตำแหน่งที่นั่งสูง เพราะมีพราหมณ์และนักปราชญ์ผู้ทรงคุณวุฒิมากมายอยู่ ณ ที่นั้น ยังทรงสังเกตเห็นว่าโรมะฮารชะณะไม่เพียงแต่ไม่ลงมาจากที่นั่งอันสูงส่ง แต่ยังไม่ยอมยืนขึ้นถวายความเคารพขณะที่บะละรามะเสด็จเข้ามาในที่ประชุม บะละรามะทรงไม่ชอบความยะโสของโรมะฮารชะณะ ทรงโกรธมาก
เมื่อบุคคลนั่งอยู่บนวิยาสาสะนะ โดยทั่วไปไม่ต้องยืนขึ้นเพื่อต้อนรับใครโดยเฉพาะที่เข้ามาในที่ชุมนุม ในกรณีนี้สถานการณ์แตกต่างกัน เพราะ องค์ภควาน บะละเดวะไม่ใช่มนุษย์ปุถุชนคนธรรมดา ฉะนั้น แม้ โรมะฮารชะณะ สูทะ ได้รับเลือกจากพราหมณ์ทั้งหมดให้มานั่งบนวิยาสาสะนะ ควรปฏิบัติตามนักปราชญ์ พราหมณ์ และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นๆ ณ ที่นั้น และควรรู้ว่าบะละรามะคือองค์ภควานที่ทุกคนควรถวายความเคารพ แม้การเคารพเช่นนี้หลีกเลี่ยงได้ในกรณีของมนุษย์ธรรมดา การปรากฏของคริชณะและบะละรามะหมายเฉพาะเพื่อสถาปนาหลักธรรมแห่งศาสนา ดังที่กล่าวไว้ใน ภควัต-คีตา หลักธรรมสูงสุดของศาสนาคือศิโรราบแด่องค์ภควาน ยืนยันไว้ใน ชรีมัด-ภควธัม ว่า ความสมบูรณ์สูงสุดของศาสนาคือปฏิบัติการอุทิศตนเสียสละรับใช้ต่อองค์ภควาน
เมื่อบะละรามะเห็นว่า โรมะฮารชะณะ สูทะ ไม่เข้าใจหลักธรรมสูงสุดของศาสนา แม้ได้ศึกษาคัมภีร์พระเวททั้งหมด แน่นอนว่าทรงไม่สามารถสนับสนุนตำแหน่งนี้สำหรับ โรมะฮารชะณะ สูทะ ได้รับโอกาสมาเป็นพราหมณ์ที่สมบูรณ์แต่ประพฤติผิดในความสัมพันธ์กับองค์ภควาน ทำให้จำชาติกำเนิดที่ต่าของเขาขึ้นมาได้ทันที โรมะฮารชะณะ สูทะ ได้รับสถานภาพพราหมณ์ โดยมิได้เกิดในตระกูลพราหมณ์ แต่เกิดในครอบครัวพระทิโลมะ ตามแนวคิดพระเวทมีการสืบตระกูลแบบผสมสองประเภทเรียกว่า อนุโลมะ และ พระทิโลมะ ชายร่วมกับหญิงวรรณะที่ต่ากว่า บุตรเรียกว่า อนุโลมะ ชายร่วมกับหญิงที่วรรณะสูงกว่า บุตรเรียกว่า พระทิโลมะ โรมาฮารชะณะ สูทะ อยู่ในตระกูลพระทิโลมะ เพราะบิดาเป็นคชัทริยะ มารดาเป็นพราหมณ์ เนื่องจากความรู้แจ้งทิพย์ของโรมะฮารชะณะไม่สมบูรณ์ บะละรามะทรงจำชาติกำเนิด พระทิโลมะ ได้ แนวคิดคือทุกคนสามารถได้รับโอกาสให้มาเป็นพราหมณ์ แต่หากใช้ตำแหน่งพราหมณ์ไม่เหมาะสม ไม่มีความรู้แจ้งที่แท้จริง ความก้าวหน้าจนมาถึงสถานภาพพราหมณ์ใช้ไม่ได้
หลังจากเห็นข้อบกพร่องในความรู้แจ้งของ โรมะฮารชะณะ สูทะ บะละรามะทรงตัดสินใจสั่งสอนความผยองโดยตรัสว่า “ชายคนนี้ต้องรับผิดชอบด้วยการได้รับโทษถึงตาย เพราะแม้มีคุณสมบัติดีที่ได้เป็นสาวกของวิยาสะเดวะ และแม้ได้ศึกษาวรรณกรรมพระเวททั้งหมดจากบุคลิกภาพผู้สูงส่ง ยังไม่ยอมอ่อนน้อมยอมจำนนในการปรากฏขององค์ภควาน” ดังที่ได้กล่าวไว้ใน ภตวัต-คีตา บุคคลผู้เป็นพราหมณ์ที่แท้จริงและเป็นผู้มีความรู้มากต้องเป็นผู้ที่สุภาพมากด้วยโดยปริยาย ในกรณีของ โรมะฮารชะณะ สูทะ แม้มีความรู้มากและได้รับโอกาสให้มาเป็นพราหมณ์ แต่ไม่สุภาพ จากตรงนี้เราสามารถเข้าใจว่าเมื่อผู้ใดผยองกับวัตถุที่ตนได้เป็นเจ้าของ จะไม่มีความประพฤติสุภาพเหมาะสมที่เป็นพราหมณ์ ความรู้ของบุคคลเช่นนี้ดีเท่ากับเพชรที่ประดับอยู่บนหัวงู ถึงแม้เพชรอันล้าค่าไปอยู่บนหัวงู งูก็ยังคงเป็นงู และเป็นที่น่ากลัวเหมือนกับงูทั่วๆ ไป หากบุคคลไม่อ่อนน้อมถ่อมตน การศึกษาคัมภีร์พระเวทและพุราณะทั้งหมด พร้อมความรู้มากมายในชาสทระ เป็นเพียงเครื่องประดับภายนอก เหมือนกับชุดแต่งกายของศิลปินผู้เต้นรำบนเวทีการแสดง บะละรามะเริ่มพิจารณาดังนี้ “ข้าปรากฏเพื่อลงโทษคนผิดผู้ไร้ความบริสุทธิ์ภายใน แต่ภายนอกอวดอ้างตนเองว่าเป็นนักศาสนาและมีความรู้มาก การสังหารบุคคลเช่นนี้เหมาะสมเพื่อให้หยุดทำบาปต่อไป”
องค์ภควาน บะละรามะ ทรงหลีกเลี่ยงการมีส่วนร่วมที่สมรภูมิคุรุคเชทระ แต่เนื่องจากสถานภาพของพระองค์ การสถาปนาหลักธรรมศาสนาจึงเป็นหน้าที่หลัก เมื่อพิจารณาถึงประเด็นเหล่านี้ บะละรามะทรงสังหาร โรมะฮารชะณะ สูทะด้วยเพียงแต่ใช้ใบหญ้าคุชะ เพียงใบเดียว หากบางคนถามว่า บะละรามะ ทรงสังหาร โรมะฮารชะณะ สูทะ ด้วยเพียงใช้ใบหญ้าคุชะ ทำร้ายเขาได้อย่างไร คำตอบได้ให้ไว้ใน ชรีมัด-ภควธัม โดยใช้คำพูดพระบุ (“อาจารย์”) สถานภาพขององค์ภควานเป็นทิพย์เสมอ เนื่องจากทรงพลังอำนาจทั้งปวง สามารถทำตามที่ทรงชื่นชอบโดยไม่ขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์หรือหลักการแห่งธรรมชาติวัตถุ จึงเป็นไปได้ที่ทรงสังหาร โรมะฮารชะณะ สูทะ ด้วยเพียงแต่สะบัดใบหญ้าคุชะ ไปเท่านั้น
พอ โรมะฮารชะณะ สูทะ ตาย ทุกคน ณ ที่นั้นรู้สึกเสียใจมาก ส่งเสียงกันอื้ออึง แม้พราหมณ์และนักปราชญ์ทั้งหมดรู้ว่าบะละรามะคือ องค์ภควาน ไม่ลังเลประท้วงการกระทำของพระองค์ และพูดอย่างอ่อนน้อมว่า “องค์ภควานที่รัก เราคิดว่าการกระทำของพระองค์ไม่ถูกหลักธรรมศาสนา โอ้ ยะดุนันดะนะที่รัก ขอบอกพระองค์ว่า พวกพราหมณ์ได้เลือก โรมะฮารชะณะ สูทะ ไปอยู่ในตำแหน่งอันสูงส่งช่วงทำพิธีอันยิ่งใหญ่นี้ เขานั่งอยู่บนวิยาสาสะนะจากการคัดสรรของพวกเรา อยู่บนวิยาสาสะนะไม่เหมาะที่ต้องยืนขึ้นเพื่อต้อนรับผู้ใด ยิ่งกว่านั้น เรายังให้รางวัลโรมะฮารชะณะ สูทะ ว่า ในช่วงชีวิตจะไม่ถูกสิ่งใดรบกวน ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ เนื่องจากพระองค์ทรงสังหารเขาโดยไม่รู้ความจริงทั้งหมด เราคิดว่าการกระทำของพระองค์เท่ากับสังหารพราหมณ์ องค์ภควานผู้จัดส่งดวงวิญญาณผู้ตกต่าที่รัก เราทราบดีว่าพระองค์ทรงรู้หลักธรรมพระเวททั้งหมด ทรงเป็นปรมาจารย์แห่งพลังอิทธิฤทธิ์ทั้งปวง ฉะนั้น คำสอนพระเวททั่วไปใช้ไม่ได้กับพระองค์ แต่เราขอร้องให้ทรงแสดงพระเมตตาอันหาที่สุดมิได้ต่อผู้อื่น โดยกรุณาชดเชยกับการที่ได้สังหาร โรมะฮารชะณะ สูทะ อย่างไรก็ดี เราไม่แนะนำว่าควรชดเชยที่ได้สังหารเขาอย่างไร เพียงแนะนำว่าควรมีวิธีชดเชยเพื่อคนอื่นอาจปฏิบัติตาม สิ่งใดที่บุคลิกภาพผู้ยิ่งใหญ่ทำคนธรรมดาทั่วไปจะทำตาม”
องค์ภควานทรงตอบว่า “ใช่ ข้าต้องชดเชยในการกระทำครั้งนี้เพื่อให้เหมาะสมสำหรับข้า แต่ไม่เหมาะสมสำหรับผู้อื่น ดังนั้น ข้าคิดว่าเป็นหน้าที่ที่จะปฏิบัติอย่างเหมาะสมในการชดเชยตามพระคัมภีร์ที่เชื่อถือได้แนะนำไว้ ขณะเดียวกันข้ายังสามารถทำให้ชีวิตของ โรมะฮารชะณะ สูทะ ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง พร้อมมีชีวิตยืนยาว สุขภาพดี และประสาทสัมผัสที่แข็งแรงสมบูรณ์ ไม่เพียงเท่านี้หากพวกท่านปรารถนา ข้ายินดีให้เขาทุกสิ่งทุกอย่างที่พวกท่านขอ ข้ายินดีให้พรทั้งหมดนี้เพื่อให้ความปรารถนาของพวกท่านสมประสงค์”
คำดำรัสของ บะละรามะ นี้ยืนยันได้อย่างแน่นอนว่า องค์ภควาน บุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้าทรงมีเสรีภาพในการทำอะไรก็ได้ แม้พิจารณาว่าที่ทรงสังหาร โรมะฮารชะณะ สูทะ ไม่เหมาะสม ทรงสามารถแก้ไขได้ทันทีด้วยผลานิสงส์ที่มากว่าสำหรับทุกคน ดังนั้น เราไม่ควรเลียนแบบการกระทำขององค์ภควาน ควรเพียงแต่ปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ นักปราชญ์ยอดเยี่ยมผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหมดรู้แจ้งว่า แม้พวกตนพิจารณาว่าการกระทำของบะละรามะไม่เหมาะสม องค์ภควาน ทรงสามารถตอบแทนด้วยผลประโยชน์ที่ดีกว่าได้ทันที เพื่อไม่ให้พระภารกิจในการสังหารโรมะฮารชะณะ สูทะ เสียไป ทั้งหมดถวายบทมนต์ดังนี้ “องค์ภควานที่รัก การสังหารโรมะฮารชะณะ สูทะ ด้วยอาวุธใบคุชะ ที่ไม่ธรรมดาของพระองค์อาจให้เป็นไปตามนั้น เพราะทรงปรารถนาสังหารเขา เขาไม่ควรถูกทำให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมา ขณะเดียวกันอาจทรงจำได้ว่า พวกนักปราชญ์และพราหมณ์ได้ให้พร มีชีวิตอยู่ยืนยาว ฉะนั้น พรเช่นนี้ไม่ควรทำให้เป็นโมฆะ” การขอร้องของพราหมณ์ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหมดในที่ชุมนุมรู้สึกกำกวม เพราะต้องการจะรักษาพรที่ได้ให้ไว้แก่ โรมะฮารชะณะ สูทะ ว่าจะมีชีวิตอยู่จนกว่าพิธีบูชาอันยิ่งใหญ่นี้เสร็จสิ้นลง ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ต้องการให้การถูกบะละรามะสังหารเป็นโมฆะ
องค์ภควานทรงแก้ปัญหาในลักษณะที่เหมาะสมกับสถานภาพอันสูงส่งของพระองค์ โดยตรัสว่า “เนื่องจากบุตรถูกผลิตออกมาจากร่างกายของบิดา คำสอนพระเวทบอกว่าบุตรเป็นผู้แทนของบิดา ฉะนั้น ข้าขอกล่าวว่า อุกรัชระวา สูทะ บุตรของโรมะฮารชะณะ สูทะ นับจากนี้ไปควรรับตำแหน่งของบิดา บรรยายพุราณะต่อไป และพวกท่านปรารถนาให้โรมะฮารชะณะมีชีวิตยืนยาว พรนี้โอนไปให้บุตรของเขา ดังนั้น อุกรัชระวา ผู้เป็นบุตรจะได้รับพรทั้งหมดที่พวกท่านเสนอ เช่น มีชีวิตยืนยาวในร่างกายที่มีสุขภาพดี โดยไม่ถูกรบกวนจากสิ่งใดๆ พร้อมทั้งประสาทสัมผัสทั้งหมดที่แข็งแรงสมบูรณ์
จากนั้น องค์ภควาน บะละรามะ ทรงขอร้องนักปราชญ์และพราหมณ์ทั้งหมดว่า นอกจากพรที่เสนอให้แก่บุตรของโรมะฮารชะณะแล้ว จะขอพรอันใดอีกก็ได้ พระองค์ทรงพร้อมสนองตอบทันที องค์ภควานทรงให้ตนเองอยู่ในสถานภาพของ คชัทริยะ ธรรมดา และบอกแก่บรรดานักปราชญ์ว่าไม่รู้จะชดเชยในการสังหารโรมะฮารชะณะอย่างไร แต่ไม่ว่าพวกเขาแนะนำอย่างไรทรงยินดียอมรับ
บรรดาพราหมณ์เข้าใจจุดมุ่งหมายขององค์ภควาน จึงแนะนำว่าทรงชดเชยด้วยการกระทำของพระองค์ในลักษณะที่จะเป็นประโยชน์แก่พวกตน โดยกล่าวว่า “องค์ภควานที่รัก มีมารตนหนึ่งชื่อบัลวะละเป็นบุตรของอิลวะละ เป็นมารที่มีพลังมหาศาล มาเยี่ยมสถานพิธีบูชาอันศักดิ์สิทธิ์นี้ทุกปักษ์ในคืนเดือนเพ็ญและคืนเดือนมืด เขาสร้างความเดือนร้อนให้แก่พวกเรามากในการปฏิบัติพิธีบูชา โอ้ ผู้สืบราชวงศ์ดะชารฮะ พวกเราทั้งหมดขอร้องให้พระองค์ทรงสังหารมารตัวนี้ คิดว่าหากทรงกรุณาสังหารเขาจะเป็นการชดเชยแก่พวกเรา มารตัวนี้บางครั้งมาที่นี่โยนของสกปรกเน่าเหม็นมากมาย เช่น หนอง เลือด อุจจาระ ปัสสาวะ ไวน์ ทำให้สถานที่ศักดิ์สิทธิ์นี้สกปรกไปหมดด้วยสิ่งโสโครกเหล่านี้ หลังจากสังหารบัลวะละแล้ว พระองค์อาจเดินทางไปยังสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของนักบุญทั้งหมดเป็นเวลาสิบสองเดือน เช่นนี้ ทำให้พระองค์ทรงเป็นอิสระจากมลทินทั้งหมดโดยสมบูรณ์ นี่คือคำแนะนำของพวกเรา”
ดังนั้น ขอจบคำอธิบายโดยบัคธิเวดันธะ หนังสือ “องค์ภควาน คริชณะ”
บทที่เจ็ดสิบเจ็ด “การสังหารดันทะวะคระ วิดูระทะ และ โรมะฮารชะณะ”
บทที่เจ็ดสิบเจ็ด “การสังหารดันทะวะคระ วิดูระทะ และ โรมะฮารชะณะ”