English ไทย

ภขวัท-คีตา ฉบับเดิม - 14.16

ผลแห่งการทำบุญที่บริสุทธิ์กล่าวว่าอยู่ในระดับความดี แต่กิจกรรมทำไปในระดับตัณหา ผลคือความทุกข์ และกิจกรรมทำไปในระดับอวิชชา ผลคือความโง่งมงาย

คำอธิบาย

ผลของการทำบุญอยู่ในระดับความดีบริสุทธิ์ ดังนั้นนักปราชญ์ผู้เป็นอิสระจากความหลงทั้งปวงจะสถิตในความสุข แต่กิจกรรมในระดับตัณหาให้แต่ความทุกข์ กิจกรรมใดๆที่ทำไปเพื่อความสุขทางวัตถุต้องได้รับความพ่ายแพ้อย่างแน่นอน ตัวอย่างเช่น หากต้องการมีตึกระฟ้ามนุษย์ต้องมีความทุกข์มากมายก่อนที่จะได้ตึกระฟ้าอันสูงใหญ่ขึ้นมา นักการเงินต้องมีปัญหามากในการหาเงินทุนจำนวนมหาศาล และพวกที่ใช้แรงงานก่อสร้างต้องทำงานอย่างหนักด้วยความทุกข์ยากลำบากกาย ดังนั้น ภควัท-คีตา กล่าวว่า กิจกรรมใดทำลงไปภายใต้มนต์สะกดของระดับตัณหาแน่นอนว่าต้องมีความทุกข์มหาศาล เราอาจคิดว่ามีความสุขทางใจอยู่บ้าง เช่น “ฉันมีบ้าน หรือว่า ฉันมีเงิน” แต่นี่ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง

สำหรับระดับอวิชชานั้นผู้กระทำไม่มีความรู้ ดังนั้นกิจกรรมทั้งหมดมีผลเป็นความทุกข์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพราะการจะมีชีวิตเป็นสัตว์เดรัจฉานชีวิตสัตว์นั้นมีความทุกข์อยู่เสมอ ถึงแม้ว่าอยู่ภายใต้มนต์สะกดของพลังแห่งความหลง หรือมายา สัตว์เดรัจฉานจะไม่เข้าใจ การฆ่าสัตว์ผู้น่าสงสารก็เนื่องมาจากระดับอวิชชาเช่นกัน คนฆ่าสัตว์ไม่รู้ว่าในอนาคตสัตว์ตัวนั้นจะมีร่างกายเหมาะสมที่จะมาฆ่าตนเองได้ นั่นคือกฎแห่งธรรมชาติ ในสังคมมนุษย์หากผู้ใดฆ่าคนตามกฎของรัฐจะถูกลงโทษขั้นประหารชีวิตเช่นกัน เนื่องด้วยอวิชชาผู้คนจึงไม่สำเหนียกว่ามีองค์ภควานฺควบคุมรัฐอย่างสมบูรณ์ ทุกๆชีวิตเป็นบุตรขององค์ภควานฺ พระองค์ทรงทนไม่ได้ที่แม้แต่มดตัวหนึ่งถูกฆ่า ผู้ฆ่าต้องชดใช้กรรม ดังนั้นการตามใจตัวเองในการฆ่าสัตว์เพื่อให้ได้รับรสเป็นอวิชชาที่หยาบที่สุด มนุษย์ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องฆ่าสัตว์เพราะว่าองค์ภควานฺทรงจัดส่งสิ่งดีๆให้มากมาย หากยังตามใจตัวเองและรับประทานเนื้อสัตว์อีกเท่ากับกระทำไปในอวิชชา และจะทำให้อนาคตของตนเองมืดมน ในบรรดาการฆ่าสัตว์ทั้งหมดการฆ่าวัวนั้นเป็นสิ่งที่โหดร้ายที่สุด เพราะวัวให้ความสุขแก่มนุษย์มากมายด้วยการให้นม การฆ่าวัวเป็นการกระทำในอวิชชาที่หยาบที่สุด ในวรรณกรรมพระเวท ( ฤคฺ เวท 9.46.4) คำว่า โคภิห์ ปฺรีณิต-มตฺสรมฺ แสดงว่าผู้ใดที่พึงพอใจกับการดื่มนมเป็นอย่างมากแล้วยังปรารถนาที่จะฆ่าวัวอีกผู้นั้นอยู่ในอวิชชาที่หยาบที่สุด มีบทมนต์ในพระเวทกล่าวว่า

นโม พฺรหฺมณฺย-เทวาย
โค-พฺราหฺมณ-หิตาย จ
ชคทฺ-ธิตาย กฺฤษฺณาย
โควินฺทาย นโม นมห์

“โอ้ องค์ภควานฺ พระองค์ทรงเป็นผู้ปรารถนาดีต่อโคและ พฺราหฺมณ (พราหมณ์) ทรงเป็นผู้ปรารถนาดีต่อสังคมมนุษย์และโลกทั้งหมด” ( วิษฺณุ ปุราณ 1.19.65) คำอธิบายก็คือ ได้กล่าวไว้เป็นพิเศษในบทมนต์นี้เพื่อเป็นการปกป้องโคและพราหมณ์ พฺราหฺมณ เป็นสัญลักษณ์แห่งการศึกษาวิถีทิพย์ และโคเป็นสัญลักษณ์แห่งอาหารที่มีคุณค่ามากที่สุด สองชีวิตนี้คือทั้งพราหมณ์และโคต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างดีที่สุด นั่นคือความเจริญก้าวหน้าอย่างแท้จริงแห่งความศิวิไล สังคมมนุษย์ปัจจุบันละเลยความรู้ทิพย์และสนับสนุนการฆ่าวัว เข้าใจได้ว่าสังคมมนุษย์พัฒนาไปในทิศทางที่ผิดและกำลังเปิดทางเพื่อทำลายตัวเอง ความศิวิไลที่ชี้นำประชาชนให้กลายมาเป็นสัตว์เดรัจฉานในชาติหน้าแน่นอนว่าไม่ใช่เป็นความศิวิไลของมนุษย์ และแน่นอนว่าความศิวิไลของมนุษย์ปัจจุบันถูกนำโดยระดับตัณหาและอวิชชาอย่างหยาบซึ่งเป็นยุคที่อันตรายมาก ทุกประเทศควรสนใจและส่งเสริมการเผยแพร่กฺฤษฺณจิตสำนึกซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด เพื่อช่วยมนุษยชาติจากภัยอันตรายอันใหญ่หลวงนี้