แม้แต่ผู้มีปัญญายังสับสนในการพิจารณาว่าอะไรคือการกระทำ และอะไรคือการไม่กระทำ บัดนี้ข้าจะอธิบายแก่เธอว่ากรรม หรือการกระทำคืออะไร เมื่อรู้แล้วเธอจะหลุดพ้นจากโชคร้ายทั้งปวง
งานในกฺฤษฺณจิตสำนึกต้องปฏิบัติตามตัวอย่างจากสาวกที่แท้จริงในอดีต ซึ่งได้แนะนำไว้แล้วในโศลกที่สิบห้า เหตุใดงานนี้จึงไม่ควรปล่อยให้เป็นอิสรเสรีจะอธิบายในโศลกต่อไป
การปฏิบัติในกฺฤษฺณจิตสำนึกนั้นเราต้องปฏิบัติตามการนำทางของบุคคลผู้เชื่อถือได้ที่อยู่ในสายปรัมปรา ดังที่ได้อธิบายไว้แล้วในตอนต้นของบทนี้ ระบบกฺฤษฺณจิตสำนึกครั้งแรกได้บรรยายให้สุริยเทพ และสุริยเทพทรงอธิบายให้พระโอรส มนุ มนุ ทรงอธิบายให้พระโอรส อิกฺษฺวากุ และจากโบราณกาลระบบนี้ได้อยู่บนโลกมาจนถึงปัจจุบันนี้ ฉะนั้นเราต้องปฏิบัติตามรอยพระบาทของบุคคลผู้เชื่อถือได้ในสายปรัมปรา มิฉะนั้นแม้แต่บุคคลผู้มีสติปัญญาสูงสุดจะสับสนเกี่ยวกับมาตรฐานการปฏิบัติในกฺฤษฺณจิตสำนึก ด้วยเหตุนี้องค์ภควานฺทรงตัดสินพระทัยสอนกฺฤษฺณจิตสำนึกแก่ อรฺชุน โดยตรง จากการตรัสสอนแก่ อรฺชุน โดยตรงเช่นนี้นั้นหากผู้ใดปฏิบัติตามรอยพระบาทของ อรฺชุน จะไม่สับสนอย่างแน่นอน
ได้กล่าวไว้ว่าเพียงความรู้จากการทดลองที่ไม่สมบูรณ์เราไม่สามารถค้นคว้าหาวิธีทางศาสนาได้ อันที่จริงองค์ภควานฺเท่านั้นที่ทรงสามารถวางหลักแห่งศาสนาได้ ธรฺมํ ตุ สากฺษาทฺ ภควตฺ-ปฺรณีตมฺ ( ภาควต 6.3.19) ไม่มีผู้ใดสามารถสร้างหลักศาสนาจากการคาดคะเนที่ไม่สมบูรณ์ได้ เราต้องปฏิบัติตามรอยพระบาทของบุคคลผู้ยิ่งใหญ่ที่เชื่อถือได้ เช่น พระพรหม, พระศิวะ, นารท , มนุ , กุมาร , กปิล , ปฺรหฺลาท , ภีษฺม , ศุกเทว โคสฺวามี , ยมราช , ชนก และ พลิ มหาราช จากการคาดคะเนทางจิตเราไม่สามารถค้นคว้าว่าศาสนาหรือการรู้แจ้งแห่งตนนั้นคืออะไรได้ ดังนั้นด้วยพระเมตตาแก่สาวกองค์ภควานฺทรงอธิบายโดยตรงแก่ อรฺชุน ว่าอะไรคือการปฏิบัติ และอะไรคือการไม่ปฏิบัติ การปฏิบัติตนในกฺฤษฺณจิตสำนึกเท่านั้นที่สามารถนำพาเราให้ออกจากพันธนาการแห่งชีวิตทางวัตถุได้