ภควัท-คีตา ฉบับเดิม

บทที่ สอง

บทสรุป ภควัท-คีตา

โศลก 42-43

yām imāṁ puṣpitāṁ vācaṁ
pravadanty avipaścitaḥ
veda-vāda-ratāḥ pārtha
nānyad astīti vādinaḥ
ยามฺ อิมำ ปุษฺปิตำ วาจํ
ปฺรวทนฺตฺยฺ อวิปศฺจิตห์
เวท-วาท-รตาห์ ปารฺถ
นานฺยทฺ อสฺตีติ วาทินห์
kāmātmānaḥ svarga-parā
janma-karma-phala-pradām
kriyā-viśeṣa-bahulāṁ
bhogaiśvarya-gatiṁ prati
กามาตฺมานห์ สฺวรฺค-ปรา
ชนฺม-กรฺม-ผล-ปฺรทามฺ
กฺริยา-วิเศษ-พหุลำ
โภไคศฺวรฺย-คตึ ปฺรติ
ยามฺ อิมามฺ — ทั้งหมดนี้, ปุษฺปิตามฺ — สำนวนโวหาร, วาจมฺ — คำพูด, ปฺรวทนฺติ — กล่าว, อวิปศฺจิตห์ — ผู้ด้อยปัญญา, เวท-วาท-รตาห์ — ผู้อ้างตนว่าปฏิบัติตามพระเวท, ปารฺถ — โอ้ โอรสพระนาง ปฺฤถา, — ไม่เคย, อนฺยตฺ — อื่นๆ, อสฺติ — มี, อิติ — ดังนั้น, วาทินห์ — สนับสนุน, กาม-อาตฺมานห์ — ต้องการสนองประสาทสัมผัส, สฺวรฺค-ปราห์ — จุดมุ่งหมายไปถึงโลกสวรรค์, ชนฺม-กรฺม-ผล-ปฺรทามฺ — ได้ผลเกิดในตระกูลดีและผลดีอื่นๆทางวัตถุ, กฺริยา-วิเศษ — พิธีกรรมอันหรูหรา, พหุลามฺ — ต่างๆ, โภค — ความสุขทางประสาทสัมผัส, ไอศฺวรฺย — และความมั่นคั่ง, คติมฺ — ความก้าวหน้า, ปฺรติ — ไปสู่

คำแปล

บุคคลผู้ด้อยปัญญาจะยึดติดอยู่กับคำพูดสำนวนโวหารในคัมภีร์พระเวทที่แนะนำกิจกรรมเพื่อผลประโยชน์ต่างๆ เช่น เจริญขึ้นไปสู่สรวงสวรรค์ เกิดในตระกูลดี มีอำนาจ และอื่นๆ จากความปรารถนาเพื่อสนองประสาทสัมผัสและมีชีวิตที่มั่งคั่ง พวกเขาจะกล่าวว่าไม่มีอะไรมากไปกว่านี้

คำอธิบาย

บุคคลทั่วไปไม่ฉลาดเท่าไรนัก และด้วยความอวิชชาของพวกเขาส่วนใหญ่จะยึดติดในกิจกรรมเพื่อผลประโยชน์ที่คัมภีร์พระเวทแนะนำไว้ในบท กรฺม-กาณฺฑ พวกเขาไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าข้อเสนอให้สนองประสาทสัมผัสเพื่อหาความเพลิดเพลินในชีวิตบนสวรรค์ที่มีสุรา นารี พร้อมทั้งความมั่งคั่งทางวัตถุอันเป็นปกติธรรมดา คัมภีร์พระเวทแนะนำพิธีบูชาหลายวิธีเพื่อให้ไปสู่สวรรค์โดยเฉพาะพิธีบูชา โชฺยติษฺโฏม ได้กล่าวไว้ว่าผู้ใดปรารถนาความเจริญก้าวหน้าไปสู่สวรรค์ต้องปฏิบัติพิธีบูชาเหล่านี้ และมนุษย์ผู้ด้อยปัญญาคิดว่านี่คือจุดมุ่งหมายทั้งหมดของปรัชญาพระเวท เป็นสิ่งยากลำบากมากสำหรับผู้ที่ด้อยประสบการณ์เหล่านี้จะสถิตด้วยความมั่นใจในการปฏิบัติกฺฤษฺณจิตสำนึก ดังเช่นคนโง่ยึดติดอยู่กับดอกไม้ของต้นที่มีพิษโดยไม่รู้ถึงผลแห่งการยึดติดนี้ บุคคลผู้ไม่รู้แจ้งสนุกสนานอยู่กับความมั่งคั่งแห่งสวรรค์และหาความสุขทางประสาทสัมผัสก็เช่นเดียวกัน

ในบท กรฺม-กาณฺฑ ของคัมภีร์พระเวท ได้กล่าวไว้ว่า อปาม โสมมฺ อมฺฤตา อภูม และ อกฺษยฺยํ ไว จาตุรฺมาสฺย-ยาชินห์ สุกฺฤตํ ภวติ หมายความว่า ผู้ปฏิบัติตนเอย่างเคร่งครัดเป็นเวลาสี่เดือนมีสิทธิ์ดื่มเครื่องดื่ม โสม-รส เพื่อเป็นอมตะและมีความสุขตลอดกาล แม้ในโลกนี้บางคนกระตือรือร้นจะดื่ม โสม-รส เพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรงเหมาะที่จะหาความสุขในการสนองประสาทสัมผัส บุคคลเช่นนี้ไม่มีความศรัทธาที่จะหลุดพ้นจากพันธนาการทางวัตถุ และจะยึดมั่นมากกับพิธีการบูชาอย่างหรูหราของพระเวท ส่วนมากเพื่อสนองประสาทสัมผัส และไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าความสุขเหมือนชีวิตบนสวรรค์ เข้าใจว่ามีอุทยานชื่อ นนฺทน-กานน สถานที่ซึ่งเปิดโอกาสอย่างดีให้คบหาสมาคมกับนางฟ้าที่สวยสดงดงาม และมีไวน์ โสม-รส ให้ดื่มอย่างเหลือเฟื่อ ความสุขทางร่างกายเช่นนี้ก็คือความใคร่อย่างแน่นอน ดังนั้นจึงมีผู้ยึดติดอย่างจริงจังกับความสุขทางวัตถุที่ไม่ถาวรเช่นนี้เสมือนดั่งตนเองเป็นเจ้าแห่งโลกวัตถุ