ภควัท-คีตา ฉบับเดิม

บทที่ สาม

กรฺม-โยค

โศลก 20

karmaṇaiva hi saṁsiddhim
āsthitā janakādayaḥ
loka-saṅgraham evāpi
sampaśyan kartum arhasi
กรฺมไณว หิ สํสิทฺธิมฺ
อาสฺถิตา ชนกาทยห์
โลก-สงฺคฺรหมฺ เอวาปิ
สมฺปศฺยนฺ กรฺตุมฺ อรฺหสิ
กรฺมณา — ด้วยงาน, เอว — แม้แต่, หิ — แน่นอน, สํสิทฺธิมฺ — ในความสมบูรณ์, อาสฺถิตาห์ — สถิต, ชนก-อาทยห์ชนก และกษัตริย์อื่นๆ, โลก-สงฺคฺรหมฺ — ผู้คนโดยทั่วไป, เอว อปิ — เช่นกัน, สมฺปศฺยนฺ — พิจารณา, กรฺตุมฺ — ปฎิบัติ, อรฺหสิ — เธอควรได้รับ

คำแปล

กษัตริย์ เช่น พระเจ้า ชนก ทรงบรรลุถึงความสมบูรณ์ด้วยเพียงแต่ทรงปฏิบัติตามหน้าที่ที่กำหนดไว้เท่านั้น ดังนั้นเพื่อเป็นการส่งเสริมการศึกษาแก่ประชาชนโดยทั่วไป เธอควรจะปฏิบัติงานของเธอ

คำอธิบาย

เหล่า กฺษตฺริย เช่น พระเจ้า ชนก ทรงเป็นดวงวิญญาณผู้รู้แจ้งแห่งตน ดังนั้น กฺษตฺริย เหล่านี้ทรงไม่มีข้อผูกพันในการที่จะต้องปฏิบัติตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ในคัมภีร์พระเวท แต่ถึงกระนั้น กฺษตฺริย เหล่านี้ก็ยังทรงปฏิบัติตามหน้าที่ที่ได้กำหนดไว้ทั้งหมดเพื่อทำตนเป็นตัวอย่างสำหรับประชาชนโดยทั่วไป พระเจ้า ชนก เป็นพระราชบิดาของพระนางสีดา ทรงเป็นพระสัสสุระของพระราม เนื่องจากเป็นสาวกผู้ยิ่งใหญ่ขององค์ภควานฺ พระองค์ทรงสถิตเหนือโลกวัตถุ แต่เนื่องจากทรงเป็น กฺษตฺริย แห่งนคร มิถิลา (เมืองหนึ่งของจังหวัดบิฮารในประเทศอินเดีย) จึงจำเป็นต้องสอนประชาชนของพระองค์ว่าควรปฏิบัติหน้าที่ที่กำหนดไว้อย่างไร อรฺชุน ผู้เป็นสหายนิรันดรขององค์กฺฤษฺณ ไม่มีความจำเป็นต้องต่อสู้ในสนามรบ กุรุกฺเษตฺร แต่ทั้งสองพระองค์ทรงต่อสู้เพื่อสอนประชาชนโดยทั่วไปว่าความรุนแรงบางครั้งมีความจำเป็นในสถานการณ์ที่ความถูกต้องยุติธรรมพ่ายแพ้ ก่อนจะเกิดสงครามที่ กุรุกฺเษตฺร ได้มีความพยายามทุกวิถีทางที่จะหลีกเลี่ยงสงคราม แม้แต่บุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้าเองก็ทรงพยายาม แต่ฝ่ายตรงข้ามยืนกรานว่าจะต้องรบ ดังนั้นเพื่อความถูกต้องยุติธรรมสงครามจึงเป็นสิ่งจำเป็น ถึงแม้ว่าผู้ที่สถิตในกฺฤษฺณจิตสำนึกอาจจะไม่มีความสนใจต่อสิ่งใดในโลก แต่ยังต้องทำงานเพื่อสอนประชาชนทั่วไปว่าควรจะมีชีวิตอยู่อย่างไร และควรจะทำงานอย่างไร บุคคลผู้มีประสบการณ์ในกฺฤษฺณจิตสำนึกสามารถปฏิบัติตนให้ผู้อื่นปฏิบัติตามได้ ดังที่จะได้อธิบายในโศลกต่อไป