ภควัท-คีตา ฉบับเดิม

บทที่ เจ็ด

ความรู้แห่งสัจธรรม

โศลก 1

śrī-bhagavān uvāca
mayy āsakta-manāḥ pārtha
yogaṁ yuñjan mad-āśrayaḥ
asaṁśayaṁ samagraṁ māṁ
yathā jñāsyasi tac chṛṇu
ศฺรี-ภควานฺ อุวาจ
มยฺยฺ อาสกฺต-มนาห์ ปารฺถ
โยคํ ยุญฺชนฺ มทฺ-อาศฺรยห์
อสํศยํ สมคฺรํ มำ
ยถา ชฺญาสฺยสิ ตจฺ ฉฺฤณุ
ศฺรี-ภควานฺ อุวาจ — องค์ภควานฺตรัส, มยิ — แด่ข้า, อาสกฺต-มนาห์ — จิตยึดติด, ปารฺถ — โอ้ โอรสพระนาง ปฺฤถา, โยคมฺ — รู้แจ้งแห่งตน, ยุญฺชนฺ — ปฏิบัติ, มตฺ-อาศฺรยห์ — ในจิตสำนึกแห่งข้า (กฺฤษฺณจิตสำนึก), อสํศยมฺ — ปราศจากความสงสัย, สมคฺรมฺ — โดยสมบูรณ์, มามฺ — ข้า, ยถา — อย่างไร, ชฺญาสฺยสิ — เธอสามารถรู้, ตตฺ — นั้น, ศฺฤณุ — พยายามสดับฟัง

คำแปล

บุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้าตรัสว่า โอ้ โอรสพระนาง ปฺฤถา บัดนี้เธอจงฟังว่าปฏิบัติโยคะด้วยจิตสำนึกที่สมบูรณ์ในข้า และด้วยจิตยึดมั่นต่อข้า เธอจึงจะสามารถรู้ถึงข้าโดยสมบูรณ์ ปราศจากความสงสัย

คำอธิบาย

บทที่เจ็ดของ ภควัท-คีตา นี้อธิบายถึงธรรมชาติของกฺฤษฺณจิตสำนึกอย่างสมบูรณ์ องค์กฺฤษฺณทรงเปี่ยมไปด้วยความมั่งคั่งทั้งหมด วิธีที่พระองค์ทรงแสดงถึงความมั่งคั่งเหล่านี้ให้เราเห็นได้อธิบายไว้ตรงนี้ และทรงได้อธิบายถึงคนโชคดีสี่ประเภทที่มายึดมั่นต่อพระองค์พร้อมทั้งคนโชคร้ายสี่ประเภทที่จะไม่ยอมรับองค์กฺฤษฺณก็ได้อธิบายไว้ในบทนี้เช่นกัน

หกบทแรกของ ภควัท-คีตา ได้อธิบายว่าสิ่งมีชีวิตเป็นดวงวิญญาณ ไม่ใช่วัตถุและดวงวิญญาณสามารถพัฒนาตนเองให้มาถึงความรู้แจ้งแห่งตนด้วยวิธีโยคะต่างๆ ในตอนท้ายของบทที่หกได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่าการทำสมาธิจิตตั้งมั่นอยู่ที่องค์กฺฤษฺณ หรือการปฏิบัติกฺฤษฺณจิตสำนึกเป็นโยคะสูงสุด ด้วยการตั้งสมาธิจิตอยู่ที่องค์กฺฤษฺณเราสามารถรู้ถึงสัจธรรมอย่างสมบูรณ์ มิใช่วิธีการรู้แจ้ง พฺรหฺม-โชฺยติรฺ ที่ไร้รูปลักษณ์ หรือรู้แจ้ง ปรมาตฺมา ในหัวใจของตนเองซึ่งไม่ใช่ความรู้แห่งสัจธรรมที่สมบูรณ์ เพราะเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ความรู้ที่สมบูรณ์และเป็นวิทยาศาสตร์คือองค์กฺฤษฺณ ทุกสิ่งทุกอย่างจะถูกเปิดเผยให้กับบุคคลในกฺฤษฺณจิตสำนึก ในกฺฤษฺณจิตสำนึกที่สมบูรณ์เรารู้ว่าองค์กฺฤษฺณทรงเป็นความรู้สุดยอดอยู่เหนือความสงสัยทั้งปวง โยคะต่างๆเป็นเพียงขั้นบันไดเพื่อก้าวไปสู่วิถีแห่งกฺฤษฺณจิตสำนึก ผู้ปฏิบัติกฺฤษฺณจิตสำนึกโดยตรงจะทราบเกี่ยวกับ พฺรหฺม-โชฺยติรฺ และ ปรมาตฺมา อย่างสมบูรณ์โดยปริยายจากการปฏิบัติ โยคะแห่งกฺฤษฺณจิตสำนึกทำให้สามารถรู้ทุกสิ่งทุกอย่างโดยสมบูรณ์ เช่น สัจธรรมที่สมบูรณ์ สิ่งมีชีวิต ธรรมชาติวัตถุ และปรากฏการณ์เหล่านี้รวมทั้งองค์ประกอบอื่นๆ

ฉะนั้นเราควรเริ่มปฏิบัติโยคะดังที่ได้แนะนำไว้ในโศลกสุดท้ายของบทที่หก การตั้งสมาธิจิตอยู่ที่องค์กฺฤษฺณ องค์ภควานฺ ทำได้โดยปฏิบัติการอุทิศตนเสียสละรับใช้ในเก้ารูปแบบที่กำหนดไว้ซึ่งมี ศฺรวณมฺ เป็นข้อแรกและสำคัญที่สุด ดังนั้นองค์ภควานฺตรัสแด่ อรฺชุน ว่า ตจฺ ฉฺฤณุ หรือ “จงสดับฟังจากข้า” ไม่มีผู้ใดเป็นผู้ที่เชื่อถือได้มากไปกว่าองค์กฺฤษฺณ ฉะนั้นการสดับฟังจากพระองค์จึงเป็นโอกาสดีที่สุดที่จะทำให้เรามีกฺฤษฺณจิตสำนึกอย่างสมบูรณ์ ดังนั้นเราต้องเรียนจากองค์กฺฤษฺณโดยตรงหรือเรียนจากสาวกผู้บริสุทธิ์ขององค์กฺฤษฺณ ไม่ใช่เรียนจากคนผยองผู้ไม่ใช่สาวกและลำพองตนอันเนื่องจากความรู้ทางวิชาการ

ใน ศฺรีมทฺ-ภาควตมฺ วิธีการเข้าใจองค์กฺฤษฺณ บุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้าผู้ทรงเป็นสัจธรรมที่สมบูรณ์ ได้มีการอธิบายไว้ในบทที่สองของภาคหนึ่งดังต่อไปนี้

ศฺฤณฺวตำ สฺว-กถาห์ กฺฤษฺณห์
ปุณฺย-ศฺรวณ-กีรฺตนห์
หฺฤทฺยฺ อนฺตห์-โสฺถ หฺยฺ อภทฺราณิ
วิธุโนติ สุหฺฤตฺ สตามฺ
นษฺฏ-ปฺราเยษฺวฺ อภเทฺรษุ
นิตฺยํ ภาควต-เสวยา
ภควตฺยฺ อุตฺตม-โศฺลเก
ภกฺติรฺ ภวติ ไนษฺฐิกี
ตทา รชสฺ-ตโม-ภาวาห์
กาม-โลภาทยศฺ จ เย
เจต เอไตรฺ อนาวิทฺธํ
สฺถิตํ สตฺเตฺว ปฺรสีทติ
เอวํ ปฺรสนฺน-มนโส
ภควทฺ-ภกฺติ-โยคตห์
ภควตฺ-ตตฺตฺว-วิชฺญานํ
มุกฺต-สงฺคสฺย ชายเต
ภิทฺยเต หฺฤทย-คฺรนฺถิศฺ
ฉิทฺยนฺเต สรฺว-สํศยาห์
กฺษียนฺเต จาสฺย กรฺมาณิ
ทฺฤษฺฏ เอวาตฺมนีศฺวเร
“การสดับฟังเกี่ยวกับองค์กฺฤษฺณจากวรรณกรรมพระเวท หรือสดับฟังจากพระองค์โดยตรงจาก ภควัท-คีตา เป็นกุศลกรรมในตัวเองสำหรับผู้ที่สดับฟังเกี่ยวกับองค์กฺฤษฺณ องค์กฺฤษฺณผู้ประทับอยู่ในหัวใจของทุกคนจะทรงปฏิบัติเหมือนกับเพื่อนผู้ปรารถนาดีที่สุด และทำให้สาวกผู้ปฏิบัติในการสดับฟังเกี่ยวกับพระองค์เสมอบริสุทธิ์ขึ้น เช่นนี้สาวกก็จะพัฒนาความรู้ทิพย์โดยธรรมชาติซึ่งซ่อนเร้นอยู่ภายในตนเอง ขณะที่สดับฟังเกี่ยวกับองค์กฺฤษฺณจาก ภาควต และจากสาวกมากขึ้นทำให้มีความมั่นคงในการอุทิศตนเสียสละรับใช้ต่อองค์ภควานฺ จากการพัฒนาการอุทิศตนเสียสละรับใช้เขาจะเป็นอิสระจากระดับตัณหาและอวิชชา ฉะนั้นราคะและความโลภทางวัตถุจะเหือดแห้งไป เมื่อสิ่งไม่บริสุทธิ์เหล่านี้ถูกขจัดออกไป ผู้สมัครมีความมั่นคงอยู่ในสภาวะแห่งความดีที่บริสุทธิ์เขาจะมีความร่าเริงในการอุทิศตนเสียสละรับใช้ และเข้าใจศาสตร์แห่งองค์ภควานฺอย่างสมบูรณ์ ดังนั้น ภกฺติ-โยค จึงตัดปมแห่งความหลงใหลในวัตถุอย่างเหนียวแน่นและทำให้เขาสามารถมาถึงระดับ อสํศยํ สมคฺรมฺ หรือเข้าใจสัจธรรมที่สมบูรณ์สูงสุดแห่งองค์ภควานฺ” (ศฺรีมทฺ-ภาควตมฺ 1.2.17-21)

ฉะนั้นด้วยการสดับฟังจากองค์กฺฤษฺณโดยตรง หรือจากสาวกของพระองค์ในกฺฤษฺณจิตสำนึกเท่านั้นที่จะทำให้เราสามารถเข้าใจศาสตร์แห่งองค์กฺฤษฺณได้