ภควัท-คีตา ฉบับเดิม

บทที่ สิบเจ็ด

ระดับแห่งความศรัทธา

FULL
โศล 1:อรฺชุน ทรงถามว่า โอ้กฺฤษฺณ สถานการณ์ของพวกที่ไม่ปฏิบัติตามหลักธรรมของพระคัมภีร์ แต่บูชาตามจินตนาการของตนเองเป็นอย่างไร พวกเขาอยู่ในความดี ตัณหา หรืออวิชชา
โศล 2:บุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้าทรงตรัสว่า ตามระดับแห่งธรรมชาติที่ดวงวิญญาณในร่างได้รับมาความศรัทธาของเขามีสามระดับ คือ ในความดี ในตัณหา หรือในอวิชชา บัดนี้จงฟัง
โศล 3:โอ้ โอรสแห่ง ภรต ตามความเป็นอยู่ภายใต้ระดับต่างๆของธรรมชาติ เขาวนเวียนอยู่กับความศรัทธาบางชนิด กล่าวว่าสิ่งมีชีวิตอยู่ในความศรัทธาบางชนิด ตามระดับที่เขาได้รับมา
โศล 4:มนุษย์ในระดับความดีบูชาเทวดา พวกที่อยู่ในระดับตัณหาบูชามาร และพวกที่อยู่ในระดับอวิชชาบูชาภูตผีและดวงวิญญาณ
โศล 5-6:พวกที่ปฏิบัติสมถะและบำเพ็ญเพียรอย่างเคร่งครัดโดยที่ไม่ได้แนะนำไว้ในพระคัมภีร์ ปฏิบัติด้วยความยโส และมีอหังการ ผู้อยู่ภายใต้มนต์สะกดของราคะ และการยึดติด ผู้ที่โง่เขลา และทรมานธาตุวัตถุของร่างกาย พร้อมทั้งทรมานองค์อภิวิญญาณผู้ทรงประทับอยู่ภายใน จงรู้ว่าพวกนี้เป็นมาร
โศล 7:แม้แต่อาหารที่แต่ละคนชอบก็มีอยู่สามประเภทตามสามระดับแห่งธรรมชาติวัตถุ และการบูชา ความสมถะ และการให้ทานก็เช่นเดียวกัน บัดนี้จงฟังข้อแตกต่างเหล่านี้
โศล 8:อาหารซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของผู้อยู่ในระดับความดี ทำให้อายุยืน ความเป็นอยู่บริสุทธิ์ขึ้น ให้พลัง ทำให้สุขภาพดี มีความสุข และเกิดความพึงพอใจ อาหารประเภทนี้ชุ่มฉ่ำ มีไขมัน เหมาะแก่สุขภาพ และเป็นที่ชื่นชอบของหัวใจ
โศล 9:อาหารที่มีรสชาติเหล่านี้มากเกินไป เช่น ขม เปรี้ยว เค็ม เผ็ด ฉุน แห้ง และเผาไหม้ เป็นที่ชื่นชอบของพวกที่อยู่ในระดับตัณหา อาหารเช่นนี้ก่อให้เกิดความทุกข์ ความโศก และโรคภัยไข้เจ็บ
โศล 10:อาหารที่ปรุงเกินกว่าสามชั่วโมงก่อนรับประทาน อาหารที่ไม่มีรสชาติ เน่า และบูด อาหารที่ประกอบไปด้วยของเหลือ และสิ่งที่ไม่ควรแตะต้อง เป็นที่ชื่นชอบของพวกที่อยู่ในระดับแห่งความมืด
โศล 11:เกี่ยวกับการบูชานั้น การบูชาที่ปฏิบัติตามคำแนะนำของพระคัมภีร์ ทำไปตามหน้าที่โดยไม่ปรารถนารางวัล อยู่ในธรรมชาติแห่งความดี
โศล 12:การบูชาทำไปเพื่อผลประโยชน์ทางวัตถุบางประการ หรือทำไปด้วยความยโส โอ้ ผู้นำแห่ง ภารต เธอควรรู้ว่าอยู่ในระดับตัณหา
โศล 13:การบูชาใดๆที่ทำไปโดยไม่คำนึงถึงคำแนะนำจากพระคัมภีร์ ไม่มีการแจก ปฺรสาทมฺ (อาหารทิพย์) ไม่มีการสวดบทมนต์พระเวท ไม่ทำบุญให้นักบวช และไม่มีความศรัทธา พิจารณาว่าอยู่ในระดับอวิชชา
โศล 14:ความสมถะของร่างกายประกอบด้วย การบูชาองค์ภควานฺ บูชา พฺราหฺมณ บูชาพระอาจารย์ทิพย์ และบูชาบุพการี เช่น บิดา มารดา มีความสะอาด เรียบง่าย ถือพรหมจรรย์ และไม่เบียดเบียน
โศล 15:ความสมถะในการพูดประกอบด้วย คำพูดที่เป็นสัจจะ รื่นหู เป็นประโยชน์ ไม่ทำให้ผู้อื่นเร่าร้อน และท่องวรรณกรรมพระเวทสม่ำเสมอ
โศล 16:มีความพึงพอใจ เรียบง่าย จริงจัง ควบคุมตนเองได้ และมีความบริสุทธิ์ในชีวิตความเป็นอยู่ เป็นความสมถะของจิตใจ
โศล 17:ความสมถะทั้งสามส่วนนี้ มนุษย์ผู้ไม่หวังผลประโยชน์ทางวัตถุแต่ปฏิบัติด้วยความศรัทธาในวิถีทิพย์เพื่อองค์ภควานเท่านั้น เรียกว่า ความสมถะในระดับความดี
โศล 18:การบำเพ็ญเพียรที่ทำด้วยความยโส ทำไปเพื่อให้ได้รับการเคารพบูชา และเกียรติยศชื่อเสียง กล่าวว่าอยู่ในระดับตัณหา จึงไม่ยั่งยืนถาวร
โศล 19:การบำเพ็ญเพียรทำไปด้วยความโง่ ด้วยการทรมานตนเอง มุ่งเพื่อทำลาย หรือทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ กล่าวว่าอยู่ในระดับอวิชชา
โศล 20:การให้ทานที่ทำไปตามหน้าที่โดยไม่หวังผลตอบแทน ถูกกาลเทศะ และให้แก่บุคคลผู้ควรค่า พิจารณาว่าอยู่ในระดับความดี
โศล 21:แต่การให้ทานที่ให้ไปเพื่อหวังผลตอบแทนบางอย่าง หรือปรารถนาผลประโยชน์ทางวัตถุ หรือให้ด้วยอารมณ์ที่ไม่เต็มใจ กล่าวว่าเป็นการให้ทานในระดับตัณหา
โศล 22:และการให้ทานแก่สถานที่ที่ไม่บริสุทธิ์ ในเวลาที่ไม่เหมาะสม ให้แก่บุคคลที่ไม่ควรค่า หรือไม่เอาใจใส่ และไม่แสดงความเคารพอย่างเหมาะสม กล่าวว่าอยู่ในระดับอวิชชา
โศล 23:จากจุดเริ่มต้นแห่งการสร้างได้ใช้คำสามคำ โอํ ตตฺ สัท แสดงถึงสัจธรรมที่สมบูรณ์สูงสุด สามคำนี้เป็นสัญลักษณ์ตัวแทนที่พราหมณ์ใช้ขณะสวดภาวนาบทมนต์พระเวท และระหว่างพิธีบูชา เพื่อให้องค์ภควานฺทรงพอพระทัย
โศล 24:ดังนั้นนักทิพย์นิยมปฏิบัติพิธีบูชา ให้ทาน และบำเพ็ญเพียรตามกฎเกณฑ์ของพระคัมภีร์ ซึ่งเริ่มต้นด้วยคำว่า โอํ เสมอ เพื่อบรรลุถึงองค์ภควาน
โศล 25:เขาควรปฏิบัติพิธีบูชา บำเพ็ญเพียร และให้ทานต่างๆโดยไม่ปรารถนาผลประโยชน์ทางวัตถุ ด้วยคำว่า ตตฺ จุดมุ่งหมายของกิจกรรมทิพย์เหล่านี้ก็เพื่อให้เป็นอิสระจากพันธนาการทางวัตถุ
โศล 26-27:สัจธรรมที่สมบูรณ์คือ จุดมุ่งหมายของพิธีบูชาด้วยการอุทิศตนเสียสละและแสดงไว้ด้วยคำว่า สัท ผู้ปฏิบัติพิธีบูชาเช่นนี้เรียกว่า สัท เช่นกัน เหมือนกับงานทั้งหมดในพิธีบูชา การบำเพ็ญเพียร และการให้ทาน ซึ่งเป็นธรรมชาติที่สมบูรณ์โดยแท้จริง ปฏิบัติไปเพื่อให้องค์ภควานฺทรงพอพระทัย โอ้ โอรสพระนาง ปฺฤถา
โศล 28:สิ่งใดที่กระทำไปเพื่อบูชา ให้ทาน หรือบำเพ็ญเพียร โดยปราศจากความศรัทธาในองค์ภควานฺ โอ้ โอรสพระนาง ปฺฤถา จะไม่ถาวร เรียกว่า อสตฺ และไม่มีประโยชน์ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า