ภควัท-คีตา ฉบับเดิม

บทที่ สิบแปด

บทสรุปความสมบูรณ์แห่งการเสียสละ

FULL
โศล 1:อรฺชุน ตรัสว่า โอ้ ยอดนักรบ ข้าปรารถนาที่จะเข้าใจจุดมุ่งหมายแห่งการเสียสละ (ตฺยาค) และชีวิตสละโลก (สนฺนฺยาส) โอ้ ผู้สังหารมาร เกศี โอ้ เจ้าแห่งประสาทสัมผัส
โศล 2:บุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้าทรงตรัสว่า การยกเลิกกิจกรรมที่มีพื้นฐานอยู่ที่ความต้องการทางวัตถุ นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่เรียกว่าชีวิตสละโลก (สนฺนฺยาส) และการยกเลิกผลของกิจกรรมทั้งหลายผู้มีปัญญาเรียกว่า การเสียสละ (ตฺยาค)
โศล 3:ผู้รู้บางท่านประกาศว่ากิจกรรมเพื่อผลทางวัตถุทั้งหมดควรยกเลิกเพราะเป็นสิ่งที่ผิด แต่นักปราชญ์อื่นๆกล่าวว่า การปฏิบัติพิธีบูชา การให้ทาน และการบำเพ็ญเพียรไม่ควรยกเลิก
โศล 4:โอ้ ผู้ยอดเยี่ยมที่สุดในหมู่ ภารต บัดนี้จงฟังคำตัดสินของข้าเกี่ยวกับการเสียสละ โอ้ เสือในหมู่มนุษย์ ในพระคัมภีร์ได้กล่าวว่าการเสียสละมีอยู่สามประเภท
โศล 5:การปฏิบัติพิธีบูชา การให้ทาน และการบำเพ็ญเพียรไม่ควรยกเลิก ต้องปฏิบัติต่อไป แน่นอนว่าพิธีบูชา การให้ทาน และการบำเพ็ญเพียรทำให้แม้กระทั่งดวงวิญญาณผู้ยิ่งใหญ่บริสุทธิ์ขึ้น
โศล 6:กิจกรรมทั้งหลายเหล่านี้ควรปฏิบัติโดยปราศจากความยึดติดหรือหวังผลประโยชน์ใดๆ และควรปฏิบัติไปในฐานะที่เป็นหน้าที่ โอ้ โอรสพระนาง ปฺฤถา นั่นคือความเห็นสุดท้ายของข้า
โศล 7:หน้าที่ที่กำหนดไว้ไม่ควรยกเลิก หากยกเลิกหน้าที่ที่กำหนดไว้เนื่องจากความหลง การเสียสละเช่นนี้กล่าวว่าอยู่ในระดับอวิชชา
โศล 8:ผู้ใดยกเลิกหน้าที่ที่กำหนดไว้ว่าเป็นปัญหา หรือเนื่องจากกลัวความไม่สะดวกทางร่างกาย กล่าวว่าผู้นั้นเสียสละในระดับตัณหา การเสียสละเช่นนี้จะไม่ทำให้เขาพัฒนาขึ้น
โศล 9:โอ้ อรฺชุน เมื่อเขาปฏิบัติตามหน้าที่ที่กำหนดไว้เนื่องจากเพียงเห็นว่าควรจะทำเท่านั้น โดยสละการคบหาสมาคมทางวัตถุ และการยึดติดต่อผลทั้งหมด การเสียสละเช่นนี้อยู่ในระดับความดี
โศล 10:ผู้เสียสละที่มีปัญญาสถิตในระดับความดีจะไม่เกลียดงานอัปมงคล หรือยึดติดกับงานมงคล และจะไม่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับงาน
โศล 11:แน่นอนว่าเป็นไปไม่ได้สำหรับสิ่งมีชีวิตผู้อยู่ในร่างกายที่จะยกเลิกกิจกรรมทั้งหมด แต่ผู้สละผลของกิจกรรมได้ชื่อว่าเป็นผู้เสียสละที่แท้จริง
โศล 12:สำหรับผู้ไม่เสียสละผลทั้งสามแห่งกิจกรรม เช่น สิ่งที่ปรารถนา สิ่งที่ไม่ปรารถนา และที่ผสมกัน ผลนั้นจะเพิ่มพูนขึ้นหลังจากตายไป แต่พวกที่อยู่ในชีวิตสละโลกไม่มีผลที่จะเศร้าโศกหรือรื่นเริงเช่นนี้
โศล 13:โอ้ อรฺชุน นักรบผู้ยอดเยี่ยม ตาม เวทานฺต มีเหตุห้าประการเพื่อความสำเร็จในการกระทำทั้งหมด บัดนี้จงเรียนรู้สิ่งเหล่านี้จากข้า
โศล 14:สถานที่แห่งกิจกรรม (ร่างกาย) ผู้กระทำ ประสาทสัมผัสต่างๆ ความพยายามอันมากมาย และในที่สุดองค์อภิวิญญาณ สิ่งเหล่านี้คือปัจจัยทั้งห้าของกิจกรรม
โศล 15:กิจกรรมไม่ว่าถูกหรือผิดที่มนุษย์ปฏิบัติด้วยร่างกาย จิตใจ หรือคำพูด ปัจจัยทั้งห้านี้เป็นต้นเหตุ
โศล 16:ดังนั้นผู้ที่คิดว่าตนเองเท่านั้นเป็นผู้กระทำโดยไม่พิจารณาถึงปัจจัยทั้งห้า แน่นอนว่าไม่มีปัญญา และไม่สามารถเห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริง
โศล 17:ผู้ที่ไม่ถูกกระตุ้นด้วยอหังการ ผู้ที่ปัญญาไม่ถูกพันธนาการ ถึงแม้สังหารมนุษย์ในโลกนี้เขาก็มิได้สังหาร และจะไม่ถูกพันธนาการด้วยกิจกรรมของตนเอง
โศล 18:ความรู้ จุดมุ่งหมายของความรู้ และผู้รู้ คือสามปัจจัยที่กระตุ้นการกระทำประสาทสัมผัสต่างๆ งาน และผู้กระทำคือส่วนประกอบทั้งสามของการกระทำ
โศล 19:ตามสามระดับที่แตกต่างกันของธรรมชาติวัตถุมีความรู้ การกระทำ และผู้ปฏิบัติการอยู่สามประเภท บัดนี้จงฟังสิ่งเหล่านี้จากข้า
โศล 20:ความรู้ที่ทำให้เห็นธรรมชาติทิพย์ซึ่งไม่มีการแบ่งแยกในมวลชีวิต ถึงแม้ว่าพวกเขาแบ่งออกเป็นรูปลักษณ์นับจำนวนไม่ถ้วน เธอก็ควรเข้าใจว่าอยู่ในระดับความดี
โศล 21:ความรู้ที่ทำให้เห็นว่าในทุกๆร่างกายที่แตกต่างกันมีสิ่งมีชีวิตที่ไม่เหมือนกันนั้น เธอควรเข้าใจว่าอยู่ในระดับตัณหา
โศล 22:และความรู้ที่ทำให้เขายึดติดอยู่กับงานชนิดเดียวว่าเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง ปราศจากความรู้แห่งสัจธรรมซึ่งขาดแคลนมาก กล่าวว่าอยู่ในระดับแห่งความมืด
โศล 23:การกระทำที่มีการประมาณและทำไปโดยไม่ยึดติด ไม่มีความรักหรือความเกลียดชัง และไม่มีความปรารถนาเพื่อผลทางวัตถุ กล่าวว่าอยู่ในระดับความดี
โศล 24:แต่การกระทำที่ทำไปด้วยความพยายามอันใหญ่หลวงของผู้ปรารถนาที่จะสนองความต้องการของตนเอง และมีอหังการเป็นตัวบงการ เรียกว่าการกระทำในระดับตัณหา
โศล 25:การกระทำที่ทำไปในความหลงโดยไม่คำนึงถึงคำสั่งสอนของพระคัมภีร์ และไม่คำนึงถึงพันธกรณีในอนาคต หรือเป็นการเบียดเบียน หรือสร้างความทุกข์ให้แก่ผู้อื่น กล่าวว่าอยู่ในระดับอวิชชา
โศล 26:ผู้ปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับสามระดับแห่งธรรมชาติวัตถุ ปราศจากอหังการ ปฏิบัติด้วยความมุ่งมั่น และกระตือรือร้นเป็นอย่างยิ่ง และไม่หวั่นไหวทั้งในความสำเร็จหรือความล้มเหลว กล่าวว่าเป็นผู้ทำงานในระดับความดี
โศล 27:ผู้ทำงานที่ยึดติดกับงานและผลของงาน ปรารถนาจะรื่นเริงกับผล มีความโลภ อิจฉาริษยาเสมอ ไม่บริสุทธิ์ มีความดีใจและเสียใจเป็นตัวผลักดัน กล่าวว่าอยู่ในระดับตัณหา
โศล 28:ผู้ทำงานที่ละเมิดคำสั่งสอนของพระคัมภีร์เสมอ เป็นนักวัตถุนิยม ดื้อรั้น ขี้โกง ชำนาญในการดูถูกผู้อื่น เกียจคร้าน อารมณ์เสียเสมอ และผัดวันประกันพรุ่งกล่าวว่าเป็นผู้ทำงานในระดับอวิชชา
โศล 29:โอ้ ผู้ชนะความร่ำรวย บัดนี้จงฟัง ข้าจะบอกรายละเอียดแก่เธอเกี่ยวกับความเข้าใจ และความมุ่งมั่นที่แตกต่างกันตามสามระดับแห่งธรรมชาติวัตถุ
โศล 30:โอ้ โอรสพระนาง ปฺฤถา ความเข้าใจที่รู้ว่าอะไรควรทำและอะไรไม่ควรทำ อะไรควรกลัวและอะไรไม่ควรกลัว อะไรที่ผูกมัดและอะไรที่เป็นอิสระ อยู่ในระดับความดี
โศล 31:โอ้ โอรสพระนาง ปฺฤถา ความเข้าใจที่ไม่สามารถแยกแยะระหว่างศาสนาและที่ไม่ใช่ศาสนา ระหว่างสิ่งที่ควรทำและสิ่งที่ไม่ควรทำ อยู่ในระดับตัณหา
โศล 32:ความเข้าใจซึ่งพิจารณาว่าศาสนาที่ไม่ใช่ศาสนาว่าเป็นศาสนา และที่เป็นศาสนาว่าไม่ใช่ศาสนา ภายใต้มนต์สะกดแห่งความหลงและความมืดพยายามไปในทิศทางที่ผิดเสมอ โอ้ ปารฺถ อยู่ในระดับอวิชชา
โศล 33:โอ้ โอรสพระนาง ปฺฤถา ความมุ่งมั่นที่ไม่ขาดตอน สนับสนุนด้วยความมั่นคงจากการปฏิบัติโยคะ ทำให้ควบคุมกิจกรรมของจิตใจ ชีวิต และประสาทสัมผัสได้เป็นความมุ่งมั่นในระดับความดี
โศล 34:แต่ความมุ่งมั่นที่ทำให้ยึดติดอยู่ในผลประโยชน์ทางวัตถุ ในศาสนา การพัฒนาเศรษฐกิจ การสนองประสาทสัมผัส เป็นธรรมชาติแห่งตัณหา โอ้ อรฺชุน
โศล 35:และความมุ่งมั่นที่ไม่สามารถอยู่เหนือความฝัน ความกลัว ความเศร้าโศก ความขุ่นเคือง และความหลง โอ้ โอรสพระนาง ปฺฤถา ความมุ่งมั่นที่ไร้สติปัญญาเช่นนี้อยู่ในระดับแห่งความมืด
โศล 36:โอ้ ผู้ยอดเยี่ยมแห่ง ภารต บัดนี้โปรดสดับฟังจากข้าเกี่ยวกับความสุขสามประเภทที่พันธวิญญาณรื่นเริง และบางครั้งทำให้เขาจบสิ้นความทุกข์ทั้งปวง
โศล 37:สิ่งที่ในตอนแรกอาจเหมือนกับยาพิษ แต่ในบั้นปลายกลายเป็นน้ำทิพย์ ซึ่งปลุกเขาให้ตื่นอยู่ในความรู้แจ้งแห่งตนกล่าวว่า เป็นความสุขในระดับความดี
โศล 38:ความสุขที่ได้รับจากการมาสัมผัสระหว่างอายตนะภายในกับอายตนะภายนอกซึ่งดูเหมือนกับน้ำทิพย์ในตอนต้น แต่ในบั้นปลายกลายเป็นยาพิษ กล่าวว่าเป็นธรรมชาติแห่งตัณหา
โศล 39:และความสุขที่ทำให้มองไม่เห็นความรู้แจ้งแห่งตนเป็นความหลงผิดตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งเกิดจากการนอน ความเกียจคร้าน และความหลง กล่าวว่าเป็นธรรมชาติแห่งอวิชชา
โศล 40:ไม่มีสิ่งมีชีวิตใดไม่ว่าจะอยู่ที่นี่ หรืออยู่ในหมู่เทวดาในระบบดาวเคราะห์ที่สูงกว่า จะเป็นอิสระจากสามระดับที่เกิดจากธรรมชาติวัตถุนี้
โศล 41:พฺราหฺมณ, กฺษตฺริย, ไวศฺย, และ ศูทฺร แบ่งออกตามคุณสมบัติที่เกิดจากธรรมชาติของตนเองตามระดับต่างๆทางวัตถุ โอ้ ผู้กำราบศัตรู
โศล 42:ความสงบ การควบคุมตนเองได้ ความสมถะ ความบริสุทธิ์ ความอดทน ความซื่อสัตย์ ความรู้ ปัญญา และการปฏิบัติตามหลักศาสนา สิ่งเหล่านี้คือคุณลักษณะตามธรรมชาติที่บรรดา พฺราหฺมณ (พราหมณ์) ถือปฏิบัติ
โศล 43:ความกล้าหาญ อำนาจ มุ่งมั่น คิดหาหนทาง ใจสู้ในสนามรบ ใจกว้าง และความเป็นผู้นำเป็นคุณลักษณะตามธรรมชาติของงานสำหรับ กฺษตฺริย (กษัตริย์)
โศล 44:การทำฟาร์ม การคุ้มครองโค และธุรกิจ เป็นธรรมชาติการทำงานของ ไวศฺย สำหรับ ศูทฺร จะใช้แรงงานและบริการรับใช้ผู้อื่น
โศล 45:จากการปฏิบัติตามคุณลักษณะแห่งงานของตนเองทุกคนสามารถบรรลุถึงความสมบูรณ์ได้ บัดนี้ โปรดฟังจากข้าว่าเช่นนี้เป็นไปได้อย่างไร
โศล 46:จากการบูชาองค์ภควานผู้ทรงเป็นแหล่งกำเนิดของมวลชีวิต และทรงแผ่กระจายไปทั่ว มนุษย์สามารถบรรลุถึงความสมบูรณ์ด้วยการปฏิบัติงานของตนเอง
โศล 47:การปฏิบัติตามอาชีพของตนแม้อาจทำได้ไม่สมบูรณ์ทีเดียว ยังดีกว่าไปรับเอาอาชีพของคนอื่นและมาทำได้อย่างสมบูรณ์ หน้าที่ที่กำหนดไว้ตามธรรมชาติของตนเองจะไม่มีวันได้รับผลบาป
โศล 48:ความพยายามทุกครั้งจะถูกปกคลุมด้วยความผิดพลาดบางอย่าง เหมือนกับไฟที่ถูกควันปกคลุม ดังนั้นจึงไม่ควรยกเลิกงานที่เกิดจากธรรมชาติของตนเอง โอ้ โอรสพระนาง กุนฺตี ถึงแม้งานนี้จะเต็มไปด้วยความผิดพลาด
โศล 49:ผู้ที่ควบคุมตนเองได้ ไม่ยึดติด และไม่สนใจต่อความรื่นเริงทางวัตถุทั้งปวง จากการฝึกปฏิบัติการเสียสละเขาสามารถบรรลุถึงระดับสมบูรณ์สูงสุดแห่งความเป็นอิสระจากผลกรรม
โศล 50:โอ้ โอรสพระนาง กุนฺตี จงเรียนรู้จากข้าว่า ผู้บรรลุถึงความสมบูรณ์เช่นนี้สามารถจะบรรลุถึงระดับสมบูรณ์สูงสุด พฺรหฺมนฺ ซึ่งเป็นระดับแห่งความรู้ที่สมบูรณ์สูงสุดด้วยการปฏิบัติเช่นนี้ได้อย่างไร บัดนี้ข้าจะสรุปให้ฟัง
โศล 51-53:ได้รับความบริสุทธิ์จากปัญญา และควบคุมจิตใจด้วยความมุ่งมั่น ไม่ยุ่งกับอายตนะภายนอกเพื่อสนองประสาทสัมผัส เป็นอิสระจากการยึดติดและความเกลียดชัง เป็นผู้อยู่ในสถานที่สันโดษ รับประทานน้อย ควบคุมร่างกาย จิตใจ และพลังในการพูด อยู่ในสมาธิเสมอ และไม่ยึดติด เป็นผู้ปราศจากอหังการอำนาจที่ผิด ความยโสที่ผิด ราคะ ความโกรธ และการยอมรับสิ่งของวัตถุปราศจากความเป็นเจ้าของที่ผิด และมีความสงบ บุคคลเช่นนี้แน่นอนว่าจะพัฒนาไปสู่สถานภาพการรู้แจ้งแห่งตน
โศล 54:ผู้ที่สถิตในระดับทิพย์จะรู้แจ้ง พฺรหฺมนฺ สูงสุดในทันที และจะมีความรื่นเริงอย่างเต็มเปี่ยม เขาจะไม่เศร้าโศกหรือปรารถนาจะได้สิ่งใด และเสมอภาคกับทุกชีวิต ในระดับนั้นเขาบรรลุถึงการอุทิศตนเสียสละรับใช้ต่อข้าด้วยความบริสุทธิ์ใจ
โศล 55:บุคคลสามารถเข้าใจตามความเป็นจริงว่า ข้าคือองค์ภควาน ก็ด้วยการอุทิศตนเสียสละรับใช้เท่านั้น และเมื่อมาอยู่ในจิตสำนึกแห่งข้าโดยสมบูรณ์ด้วยการอุทิศตนเสียสละเช่นนี้ เขาจะสามารถเข้าไปในอาณาจักรแห่งองค์ภควาน
โศล 56:แม้ปฏิบัติในกิจกรรมต่างๆทั้งหลาย สาวกผู้บริสุทธิ์ภายใต้การปกป้องของข้าจะบรรลุถึงพระตำหนักอมตะและไม่มีวันสูญสลาย ด้วยพระกรุณาธิคุณของข้า
โศล 57:ในกิจกรรมทั้งหลาย จงขึ้นอยู่กับข้าและทำงานภายใต้การปกป้องของข้าเสมอ ด้วยการอุทิศตนเสียสละรับใช้เช่นนี้ จงมีจิตสำนึกอยู่ที่ข้าโดยสมบูรณ์
โศล 58:หากมีจิตสำนึกอยู่ที่ข้า เธอจะข้ามพ้นอุปสรรคแห่งพันธชีวิตทั้งหมดด้วยความกรุณาธิคุณของข้า อย่างไรก็ดีหากเธอไม่ทำงานในจิตสำนึกเช่นนี้แต่ทำตามอหังการ ไม่เชื่อฟังข้า เธอจะหลงทาง
โศล 59:หากไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของข้า และไม่ต่อสู้ เธอจะถูกนำไปในทางที่ผิด ตามธรรมชาติของเธอแล้วเธอจะต้องต่อสู้ในสงคราม
โศล 60:ภายใต้ความหลงบัดนี้เธอนั้นปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำของข้า แต่ถูกบังคับด้วยงานที่เกิดจากธรรมชาติของตัวเธอเอง เธอจะต้องปฏิบัติเช่นเดียวกัน โอ้ โอรสพระนาง กุนฺตี
โศล 61:องค์ภควานทรงสถิตภายในหัวใจของทุกๆคน โอ้ อรฺชุน และทรงชี้นำการเดินทางของมวลชีวิตผู้เสมือนกับนั่งอยู่บนเครื่องจักรที่ผลิตจากพลังงานวัตถุ
โศล 62:โอ้ ผู้สืบราชวงศ์แห่ง ภรต ศิโรราบต่อองค์ภควานอย่างเต็มที่ ด้วยพระกรุณาธิคุณของพระองค์เธอจะบรรลุถึงความสงบทิพย์ และบรรลุถึงพระตำหนักสูงสุดนิรันดร
โศล 63:ข้าได้อธิบายแก่เธอถึงความรู้ที่ลับขึ้นไปอีก จงพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ จากนั้นก็ทำตามที่เธอปรารถนา
โศล 64:เนื่องจากเธอเป็นสหายที่ข้ารักมาก ข้าจึงตรัสคำสั่งสอนสูงสุดนี้แก่เธอซึ่งเป็นความรู้ที่ลับสุดยอด จงฟังจากข้าเพื่อประโยชน์ของเธอ
โศล 65:ระลึกถึงข้าเสมอ มาเป็นสาวกของข้า บูชาข้า และถวายความเคารพแด่ข้า เช่นนี้เธอจะมาหาข้าอย่างแน่นอน ข้าสัญญาเช่นนี้เพราะเธอเป็นสหายที่รักยิ่งของข้า
โศล 66:ยกเลิกศาสนาทั้งหมด และเพียงแต่ศิโรราบต่อข้า ข้าจะส่งเธอให้ออกจากผลบาปทั้งปวง จงอย่ากลัว
โศล 67:ความรู้ที่ลับเฉพาะนี้ไม่อาจอธิบายแก่พวกที่ไม่สมถะ ไม่เสียสละ หรือไม่ปฏิบัติการอุทิศตนเสียสละรับใช้ และผู้ที่อิจฉาริษยาข้า
โศล 68:สำหรับผู้ที่อธิบายความลับสุดยอดนี้แด่เหล่าสาวก การอุทิศตนเสียสละรับใช้อย่างบริสุทธิ์เป็นที่รับประกัน และในที่สุดเขาจะกลับมาหาข้า
โศล 69:ไม่มีคนรับใช้ใดในโลกนี้ที่ข้ารักมากกว่าเขา และจะไม่มีผู้ใดที่ข้าจะรักมากไปกว่าอีกแล้ว
โศล 70:และข้าประกาศว่า ผู้ใดที่ศึกษาการสนทนาอันน่าเลื่อมใสของเรานี้จะบูชาข้าด้วยสติปัญญาของเขา
โศล 71:และผู้ที่สดับฟังด้วยความศรัทธาโดยปราศจากความอิจฉาริษยาจะเป็นอิสระจากผลบาป และบรรลุถึงโลกอันเป็นสิริมงคลที่คนมีบุญบารมีพำนักอาศัยอยู่
โศล 72:โอ้ โอรสพระนาง ปฺฤถา โอ้ ผู้ชนะความร่ำรวย เธอได้ฟังด้วยความตั้งใจหรือเปล่า บัดนี้ทั้งอวิชชาและความหลงของเธอถูกขจัดออกไปหรือยัง
โศล 73:อรฺชุน ตรัสว่า โอ้ กฺฤษฺณที่รัก โอ้ ผู้ไร้ความผิดพลาด บัดนี้ความหลงของข้าพเจ้ามลายไปสิ้น ข้าได้รับความจำกลับคืนมาด้วยพระเมตตาของพระองค์บัดนี้ข้ามีความมั่นคง หมดความสงสัย และเตรียมพร้อมที่จะปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์
โศล 74:สญฺชย กล่าวว่า ดังนี้ข้าได้สดับฟังการสนทนาระหว่างสองวิญญูชนผู้ยิ่งใหญ่ องค์กฺฤษฺณ และ อรฺชุน และสาส์นที่ถ่ายทอดมานั้นอัศจรรย์มากจนข้าพเจ้าขนลุก
โศล 75:ด้วยพระเมตตาของ วฺยาส ข้าได้สดับฟังการสนทนาที่ลับสุดยอดนี้โดยตรงจากศฺรี กฺฤษฺณ ปรมาจารย์แห่งระบบโยคะทั้งหลาย ผู้ตรัสต่อ อรฺชุน ด้วยพระองค์เอง
โศล 76:โอ้ พระราชา ขณะที่ข้าพเจ้าทบทวนความจำถึงการสนทนาอันบริสุทธิ์และน่าอัศจรรย์ระหว่างศฺรีกฺฤษฺณ และ อรฺชุน นี้ครั้งแล้วครั้งเล่า ข้าพเจ้ามีความปลาบปลื้มยินดีและซาบซึ้งอยู่ทุกๆนาที
โศล 77:โอ้ พระราชา ขณะที่ระลึกถึงรูปลักษณ์อันเลอเลิศขององค์กฺฤษฺณ ข้าพเจ้ารู้สึกอัศจรรย์ใจมากยิ่งขึ้น และร่าเริงครั้งแล้วครั้งเล่า
โศล 78:ที่ใดที่มีองค์กฺฤษฺณ ปรมาจารย์แห่งระบบโยคะทั้งหลาย และที่ใดที่มี อรฺชุน นักยิงธนูผู้ยอดเยี่ยม แน่นอนว่าที่นั่นจะมีความมั่งคั่ง ชัยชนะ พลังอำนาจพิเศษ พร้อมทั้งศีลธรรม นั่นคือความเห็นของข้า