ภควัท-คีตา ฉบับเดิม

บทที่ สาม

กรฺม-โยค

FULL
โศล 1:อรฺชุน ตรัสว่า โอ้ ชนารฺทน โอ้ เกศว ทำไมพระองค์ทรงปรารถนาให้ข้าพเจ้าต่อสู้ในสงครามอันน่าสะพรึงกลัวเช่นนี้ หากทรงคิดว่าปัญญานั้นดีกว่าการทำงานเพื่อผลทางวัตถุ
โศล 2:ปัญญาของข้าพเจ้าสับสนจากคำสั่งสอนที่ไม่แน่นอนของพระองค์ฉะนั้นทรงโปรดตรัสอย่างชัดเจนว่า อะไรคือสิ่งที่เป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับข้าพเจ้า
โศล 3:องค์ภควานตรัสว่า โอ้ อรฺชุน ผู้ไร้บาป ข้าได้อธิบายเรียบร้อยแล้วว่ามีคนอยู่สองประเภทที่พยายามรู้แจ้งตนเอง บางคนมีแนวโน้มที่จะเข้าใจด้วยการสังเกตและคาดคะเนทางปรัชญา และบางคนเข้าใจด้วยการอุทิศตนเสียสละรับใช้
โศล 4:มิใช่เพียงแต่การหยุดทำงานที่จะทำให้เราหลุดพ้นจากผลกรรม หรือด้วยการเสียสละเพียงอย่างเดียวที่สามารถทำให้เราบรรลุถึงความสมบูรณ์
โศล 5:ทุกคนถูกบังคับให้ทำงานตามคุณสมบัติที่ตนได้รับมาจากระดับต่างๆของธรรมชาติวัตถุอย่างช่วยไม่ได้ ดังนั้นจึงไม่มีใครสามารถหยุดการกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้แม้แต่เพียงชั่วครู่
โศล 6:ผู้ที่เหนี่ยวรั้งการทำงานของประสาทสัมผัสแต่ว่าจิตใจยังจดจ่ออยู่ที่ รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส เขาเป็นผู้หลอกตัวเอง และได้ชื่อว่าเป็นผู้เสแสร้งอย่างแน่นอน
โศล 7:อีกด้านหนึ่ง ถ้าหากผู้มีความจริงใจพยายามใช้จิตใจควบคุมประสาทสัมผัสที่ตื่นตัวและเริ่มปฏิบัติ กรฺม - โยค (ในกฺฤษฺณจิตสำนึก) โดยไม่ยึดติดบุคคลเช่นนี้สูงส่งกว่าเป็นไหนๆ
โศล 8:จงปฏิบัติหน้าที่ของเธอที่ได้กำหนดไว้ การกระทำเช่นนี้ดีกว่าไม่ทำงาน เราไม่สามารถแม้แต่จะดำรงรักษาร่างกายนี้ไว้ได้โดยไม่ทำงาน
โศล 9:งานที่ทำไปเพื่อเป็นการบูชาพระวิษฺณุจะต้องมีการปฏิบัติ มิฉะนั้นงานจะเป็นต้นเหตุแห่งพันธนาการในโลกวัตถุนี้ ดังนั้นโอ้ โอรสพระนาง กุนฺตี จงปฏิบัติหน้าที่ของเธอที่กำหนดไว้เพื่อให้องค์ภควานทรงพอพระทัย ด้วยการกระทำเช่นนี้เธอจะมีอิสรภาพจากพันธนาการทางวัตถุอยู่ตลอดเวลา
โศล 10:ในตอนเริ่มต้นของการสร้างพระผู้เป็นเจ้าแห่งสรรพสัตว์ทรงส่งประชากรมนุษย์และเทวดา พร้อมทั้งพิธีการบูชาพระวิษฺณุและทรงให้พรด้วยการตรัสว่า “พวกเธอจงมีความสุขด้วย ยชฺญ (การบูชา) นี้ เพราะการปฏิบัติเช่นนี้จะส่งผลทุกสิ่งที่เธอปรารถนาเพื่อให้ชีวิตอยู่อย่างมีความสุขและได้รับอิสรภาพหลุดพ้น”
โศล 11:เหล่าเทวดาที่ทรงพอพระทัยจากการปฏิบัติบูชาจะทำให้พวกเธอได้รับความพึงพอใจด้วยเช่นเดียวกัน จากการร่วมมือกันระหว่างมนุษย์และเทวดาความเจริญรุ่งเรืองจะครอบคลุมไปทั่ว
โศล 12:เหล่าเทวดาผู้ควบคุมสิ่งจำเป็นต่างๆสำหรับชีวิตได้รับความพึงพอพระทัยจากการปฏิบัติ ยชฺญ (การบูชา) จะจัดส่งสิ่งของจำเป็นทั้งหมดให้แด่พวกเธอ แต่ผู้ที่ได้รับความสุขจากของขวัญเหล่านี้โดยมิได้นำมาถวายคืนให้เทวดาถือว่าเป็นขโมยอย่างแน่นอน
โศล 13:สาวกขององค์ภควานได้รับการปลดเปลื้องจากบาปทั้งปวงเพราะว่ารับประทานอาหารที่ถวายเพื่อเป็นการบูชาก่อน บุคคลอื่นที่ปรุงอาหารเพื่อความสุขทางประสาทสัมผัสของตนเองนั้น แน่นอนว่าได้รับประทานแต่ความบาปเท่านั้น
โศล 14:ร่างที่มีชีวิตทั้งหมดนั้นมีชีวิตอยู่ได้ด้วยธัญญาหารซึ่งผลิตมาจากฝน ฝนเป็นผลผลิตจากการปฏิบัติ ยชฺญ (การบูชา) และ ยชฺญ เกิดจากหน้าที่ที่ได้กำหนดไว้
โศล 15:ระเบียบกิจกรรมได้กำหนดไว้ในคัมภีร์พระเวท และคัมภีร์พระเวทปรากฎออกมาโดยตรงจากบุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้า ดังนั้นองค์ภควานฺผู้ทรงแผ่กระจายไปทั่วทรงสถิตในการปฏิบัติบูชานิรันดร
โศล 16:อรฺชุน ที่รัก ผู้ที่ไม่ปฏิบัติบูชาอย่างครบวงจรตามที่คัมภีร์พระเวทได้สถาปนาไว้ ชีวิตในร่างมนุษย์นี้เต็มไปด้วยความบาปอย่างแน่นอน การมีชีวิตอยู่ก็เพียงเพื่อความพึงพอใจของประสาทสัมผัสเท่านั้น บุคคลเช่นนี้มีชีวิตอยู่อย่างไร้ประโยชน์
โศล 17:สำหรับผู้ที่มีความสุขอยู่ในตัวเอง ผู้ที่ชีวิตมนุษย์ของเขาเป็นไปเพื่อความรู้แจ้งแห่งตนนั้นเป็นผู้ที่มีความพึงพอใจในตนเองเท่านั้น มีความพอเพียงอย่างบริบูรณ์ สำหรับบุคคลเช่นนี้ไม่มีหน้าที่การงานใดๆ
โศล 18:บุคคลผู้รู้แจ้งตนเองจะไม่มีจุดมุ่งหมายอื่นใดที่จะต้องบรรลุในการปฏิบัติหน้าที่ของตนที่กำหนดไว้ เขาไม่มีเหตุผลอันใดที่จะไม่ปฏิบัติงานนี้ และก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขึ้นอยู่กับสิ่งมีชีวิตใดๆ
โศล 19:ฉะนั้น โดยการปราศจากการยึดติดกับผลของงานเราควรปฏิบัติตนตามหน้าที่ เพราะจากการทำงานโดยไม่ยึดติดนั้นเราจะบรรลุถึงองค์ภควานฺ
โศล 20:กษัตริย์ เช่น พระเจ้า ชนก ทรงบรรลุถึงความสมบูรณ์ด้วยเพียงแต่ทรงปฏิบัติตามหน้าที่ที่กำหนดไว้เท่านั้น ดังนั้นเพื่อเป็นการส่งเสริมการศึกษาแก่ประชาชนโดยทั่วไป เธอควรจะปฏิบัติงานของเธอ
โศล 21:มหาบุรุษปฏิบัติอย่างไรบุคคลธรรมดาทั่วไปจะปฏิบัติตาม และมาตรฐานใดที่ท่านวางไว้ด้วยการปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างทั่วโลกจะเจริญรอยตาม
โศล 22:โอ้ โอรสพระนาง ปฺฤถา ไม่มีงานใดที่กำหนดไว้สำหรับข้าภายในระบบดาวเคราะห์ทั้งสาม ข้าไม่ต้องการสิ่งใด และข้าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องบรรลุถึงอะไร ถึงกระนั้นข้ายังต้องปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้กำหนดไว้
โศล 23:ถ้าหากข้าไม่ปฏิบัติหน้าที่ที่กำหนดไว้อย่างระมัดระวังแล้วไซร้ โอ้ ปารฺถ ทุกคนจะปฏิบัติตามแนวทางของข้าอย่างแน่นอน
โศล 24:หากข้าไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ โลกทั้งหลายจะตกอยู่ในความหายนะ ข้าจะเป็นต้นเหตุที่ก่อให้เกิดประชากรที่ไม่พึงปรารถนา และจะเป็นผู้ทำลายความสงบของมวลชีวิต
โศล 25:เฉกเช่นผู้อยู่ในอวิชชาปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความยึดติดในผลของงาน ผู้รู้อาจปฏิบัติหน้าที่เช่นเดียวกันแต่ไม่ยึดติด ทำไปเพียงเพื่อที่จะนำผู้คนให้มาสู่วิถีทางที่ถูกต้องเท่านั้น
โศล 26:เพื่อไม่เป็นการรบกวนจิตใจของผู้อยู่ในอวิชชาที่ยึดติดต่อผลของงานในหน้าที่ที่กำหนดไว้ ผู้รู้ไม่ควรแนะนำให้พวกเขาหยุดทำงาน แต่ให้ทำงานในสปิริตแห่งการเสียสละ ควรแนะนำให้พวกเขาปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ (เพื่อค่อยๆพัฒนามาสู่กฺฤษฺณจิตสำนึก)
โศล 27:จิตวิญญาณเกิดสับสนอันเนื่องมาจากอิทธิพลของอหังการที่คิดว่าตนเองเป็นผู้กระทำกิจกรรมทั้งหลาย แท้ที่จริงสามระดับแห่งธรรมชาติวัตถุเป็นผู้นำพาไป
โศล 28:โอ้ นักรบผู้ยอดเยี่ยม ผู้รู้สัจธรรมอันสมบูรณ์จะไม่ปฏิบัติตนอยู่ในระดับประสาทสัมผัสและจะไม่สนองประสาทสัมผัส เขารู้ดีถึงข้อแตกต่างระหว่างงานเพื่อการอุทิศตนเสียสละ และงานเพื่อผลประโยชน์ทางวัตถุ
โศล 29:เนื่องด้วยสับสนจากระดับของธรรมชาติวัตถุ ผู้ที่อยู่ในอวิชชาจะปฏิบัติตนอย่างเต็มที่ในกิจกรรมทางวัตถุและเกิดการยึดติด แต่ผู้ที่ฉลาดไม่ควรกังวลกับสิ่งเหล่านี้ ถึงแม้ว่าหน้าที่เหล่านี้จะต่ำกว่าอันเนื่องมาจากผู้ปฏิบัติขาดความรู้
โศล 30:ฉะนั้น โอ้ อรฺชุน จงศิโรราบงานของเธอทั้งหมดแด่ข้า เปี่ยมไปด้วยความรู้แห่งข้า ไม่ปรารถนาผลกำไร ไม่อ้างความเป็นเจ้าของ และปราศจากความเฉื่อยชา เธอจงสู้!
โศล 31:ผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของข้า และปฏิบัติตามคำสั่งสอนนี้ด้วยความศรัทธา หากปราศจากความอิจฉาริษยาจะได้รับอิสรภาพจากพันธนาการแห่งการกระทำเพื่อผลทางวัตถุ
โศล 32:แต่ผู้ที่มีความอิจฉาริษยา ละเลยคำสั่งสอนเหล่านี้ และไม่ปฏิบัติตามอย่างสม่ำเสมอ พิจารณาว่าความรู้ทั้งหมดได้สูญเสียไป เป็นคนโง่ และได้ทำลายความพยายามเพื่อความสมบูรณ์
โศล 33:แม้ผู้รู้ยังต้องปฏิบัติตามธรรมชาติของตนเอง เพราะทุกคนปฏิบัติตามธรรมชาติที่ตนได้รับมาจากสามระดับ การเก็บกดเอาไว้จะได้รับผลสำเร็จอันใด
โศล 34:มีหลักการประมาณความยึดติดและความเกลียดชัง ที่เกี่ยวกับอายตนะภายในและอายตนะภายนอก เราไม่ควรไปอยู่ภายใต้การควบคุมของความยึดติดและความเกลียดชังเช่นนี้ เพราะมันเป็นอุปสรรคในความรู้แจ้งแห่งตน
โศล 35:การปฏิบัติหน้าที่ของตนที่ได้กำหนดไว้ ถึงแม้ว่าจะมีข้อบกพร่องยังดีกว่าไปทำหน้าที่ของผู้อื่นอย่างสมบูรณ์เป็นไหนๆ การถูกทำลายขณะปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง ยังดีกว่าไปปฏิบัติหน้าที่ของผู้อื่น เพราะการปฏิบัติตามวิถีทางของผู้อื่นนั้นเป็นอันตราย
โศล 36:อรฺชุน ตรัสว่า โอ้ ผู้สืบราชวงศ์ วฺฤษฺณิ อะไรคือสิ่งกระตุ้นให้คนทำบาปแม้จะไม่เต็มใจ ประหนึ่งทำไปเพราะถูกบังคับ
โศล 37:บุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้าตรัสว่า โอ้ อรฺชุน ราคะเท่านั้นที่เกิดจากการมาสัมผัสกับระดับตัณหาทางวัตถุ และต่อมากลายเป็นความโกรธ ซึ่งเป็นศัตรูบาปที่จะเผาผลาญทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้
โศล 38:เสมือนดังควันที่ปกคลุมไฟ ฝุ่นที่ปกคลุมกระจกเงา หรือครรภ์ที่ปกคลุมทารก สิ่งมีชีวิตก็ถูกปกคลุมไปด้วยระดับต่างๆของราคะนี้เช่นเดียวกัน
โศล 39:ดังนั้น จิตสำนึกอันบริสุทธิ์ของสิ่งมีชีวิต ผู้มีปัญญาถูกปกคลุมไปด้วยศัตรูนิรันดรในรูปของราคะ ซึ่งไม่รู้จักพอเพียงและเผาผลาญเหมือนเปลวเพลิง
โศล 40:ประสาทสัมผัสต่างๆรวมทั้งจิตใจและปัญญาเป็นสถานที่พำนักพักพิงของตัวราคะนี้ ราคะปิดบังความรู้อันแท้จริงของสิ่งมีชีวิตผ่านตามจุดต่างๆหล่านี้ และทำให้เขาสับสนงุนงง
โศล 41:ฉะนั้น โอ้ อรฺชุน ผู้ดีเลิศแห่ง ภารต ในตอนแรกจงกั้นขอบเครื่องหมายแห่งบาปอันยิ่งใหญ่นี้ (ราคะ) ด้วยการประมาณประสาทสัมผัส และจงสังหารผู้ทำลายวิชาความรู้ และความรู้แจ้งแห่งตนนี้เสีย
โศล 42:ประสาทสัมผัสที่ทำงานสูงกว่าวัตถุที่ไม่มีชีวิต จิตใจสูงกว่าประสาทสัมผัส ปัญญาสูงไปกว่าจิตใจ และเขา (ดวงวิญญาณ) ยิ่งสูงขึ้นกว่าปัญญา
โศล 43:ดังนั้น เมื่อรู้ว่าตนเองเป็นทิพย์อยู่เหนือประสาทสัมผัสวัตถุ จิตใจ และปัญญา โอ้ อรฺชุน นักรบผู้เก่งกล้า เธอควรทำจิตใจให้แน่วแน่มั่นคงด้วยปัญญาทิพย์ที่สุขุม (กฺฤษฺณจิตสำนึก) และด้วยพลังทิพย์จงกำราบเจ้าตัวราคะ ศัตรูผู้ไม่รู้จักพอ