ภควัท-คีตา ฉบับเดิม
บทที่ สอง
บทสรุป ภควัท-คีตา
โศล 1:สญฺชย กล่าวว่า ได้เห็น อรฺชุน ทรงเปี่ยมไปด้วยความเมตตาสงสาร จิตใจเศร้าสลด ดวงตาเปี่ยมไปด้วยน้ำตา มธุสูทน กฺฤษฺณ ตรัสดังต่อไปนี้
โศล 2:บุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้าตรัสว่า โอ้ อรฺชุน ที่รัก มลทินเหล่านี้เกิดขึ้นต่อเธอได้อย่างไร มันไม่เหมาะสำหรับผู้ที่รู้คุณค่าแห่งชีวิตอย่างยิ่ง เพราะจะไม่นำพาเธอไปสู่โลกที่สูงกว่าแต่จะทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง
โศล 3:โอ้ โอรสแห่ง ปฺฤถา เธอจงอย่ายอมจำนนให้กับความไร้สมรรถภาพที่น่าอับอายจนไม่เป็นตัวของตัวเองเช่นนี้ จงสลัดความอ่อนแอแห่งจิตใจเพียงเล็กน้อยนี้ออกไปให้พ้น และลุกขึ้นมาสู้ โอ้ ผู้กำราบศัตรู
โศล 4:อรฺชุน ตรัสว่า โอ้ ผู้สังหารศัตรู โอ้ ผู้สังหาร มธุ ข้าจะตอบโต้ด้วยลูกศรในสนามรบกับ ภีษฺม และ โทฺรณ ผู้ที่ควรค่าแก่การได้รับการบูชาจากข้าพเจ้าได้อย่างไรกัน
โศล 5:อยู่ในโลกนี้ด้วยการภิกขาจารยังดีกว่าที่จะอยู่ด้วยค่าครองชีพของดวงวิญญาณผู้ยิ่งใหญ่ที่เป็นพระอาจารย์ของข้าทั้งหลาย ถึงแม้ปรารถนาผลกำไรทางโลกแต่พวกท่านก็ยังเป็นผู้อาวุโส หากพวกท่านถูกสังหารทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นความสุขของเราจะถูกแปดเปื้อนไปด้วยเลือด
โศล 6:เราไม่ทราบว่าสิ่งไหนดีกว่ากัน ระหว่างการเอาชนะพวกเขา หรือปล่อยให้พวกเขามีชัย หากสังหารเหล่าโอรสของ ธฺฤตราษฺฏฺร เราก็ไม่ควรมีชีวิตอยู่เช่นกัน บัดนี้ พวกเขาได้มายืนอยู่ต่อหน้าเราในสมรภูมินี้แล้ว
โศล 7:บัดนี้ข้าพเจ้ารู้สึกสับสนเกี่ยวกับหน้าที่ และสูญเสียความสงบจนหมดสิ้น อันเนื่องมาจากความอ่อนแอเล็กน้อย ในสภาวะเช่นนี้ข้าพเจ้าขอเรียนถาม ได้ทรงโปรดกรุณาตรัสอย่างชัดเจนด้วยว่า อะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับข้า บัดนี้ ข้าพเจ้าขอนอบน้อมเป็นสาวก วิญญาณดวงนี้ขอศิโรราบแด่พระองค์ ทรงโปรดกรุณาชี้ทาง
โศล 8:ข้าพเจ้าไม่สามารถหาวิธีขจัดความทุกข์ที่ทำให้ประสาทสัมผัสเหือดแห้งลงได้ ถึงแม้จะได้รับชัยชนะทั้งทรัพย์สมบัติ และอาณาจักรที่ไร้คู่แข่งบนโลกนี้ พร้อมทั้งอำนาจสูงสุดเยี่ยงเทวดาบนสวรรค์ ก็ยังจะไม่สามารถขจัดปัดเป่ามันออกไปได้
โศล 9:สญฺชย กล่าวว่า หลังจากตรัสเช่นนี้แล้ว อรฺชุน ผู้กำราบศัตรูตรัสต่อองค์กฺฤษฺณว่า “ข้าแต่องค์ โควินฺท ข้าพเจ้าจะไม่รบ” และมีอาการสงบนิ่ง
โศล 10:โอ้ ผู้สืบราชวงศ์ ภรต ขณะนั้น องค์กฺฤษฺณทรงแย้มพระสรวลอยู่ท่ามกลางกองทัพทั้งสองฝ่าย และตรัสแด่ อรฺชุน ผู้ทรงเปี่ยมไปด้วยความเศร้าโศกดังต่อไปนี้
โศล 11:บุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้าตรัสว่า ขณะที่พูดด้วยวาจาอันสูงส่งแต่เธอกลับมาเศร้าโศกกับสิ่งที่ไม่ควรค่าแก่การโศกเศร้า ผู้ที่มีปัญญาจะไม่เศร้าโศกไปกับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
โศล 12:ไม่มีขณะใดเลยที่ตัวข้า ตัวเธอ หรือกษัตริย์ทั้งหลายเหล่านี้ไม่มีชีวิตอยู่ แม้ในอนาคตพวกเราทั้งหมดก็จะยังคงมีชีวิตอยู่
โศล 13:ดังเช่นดวงวิญญาณในร่างวัตถุ เดินทางผ่านจากร่างวัยเด็กมาสู่ร่างวัยรุ่น และเข้าสู่ร่างวัยชรา ในลักษณะเดียวกันดวงวิญญาณจะผ่านจากร่างหนึ่งไปสู่อีกร่างหนึ่งเมื่อตาย ผู้มีสติจะไม่สับสนต่อการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้
โศล 14:โอ้ โอรสพระนาง กุนฺตี การปรากฏ และไม่ปรากฏอันไม่ถาวรแห่งความสุข และความทุกข์ที่เป็นไปตามกาลเวลานั้น เปรียบเสมือนการปรากฏและการไม่ปรากฏ ของฤดูหนาวและฤดูร้อน ซึ่งเกิดขึ้นจากการสำเหนียกของประสาทสัมผัส โอ้ ผู้สืบราชวงศ์ ภรต เราต้องเรียนรู้ถึงการอดทนต่อสิ่งเหล่านี้โดยไม่หวั่นไหว
โศล 15:โอ้ ผู้ประเสริฐสุดในหมู่มนุษย์ (อรฺชุน) ผู้ที่ไม่หวั่นไหวต่อความสุขและความทุกข์ และมีความมั่นคงในทั้งสองสิ่ง เป็นผู้มีสิทธิ์เพื่อความหลุดพ้นอย่างแน่นอน
โศล 16:ผู้เห็นสัจธรรมได้สรุปไว้ว่า สำหรับสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง (ร่างกายวัตถุ) จะไม่มีความคงทนถาวร และสำหรับสิ่งที่เป็นอมตะ (ดวงวิญญาณ) จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง พวกเขาสรุปเช่นนี้จากการศึกษาธรรมชาติของทั้งสองสิ่ง
โศล 17:เธอควรทราบว่าสิ่งที่แผ่กระจายไปทั่วร่างกายถูกทำลายไม่ได้ ไม่มีผู้ใดสามารถทำลายดวงวิญญาณที่ไม่มีวันเสื่อมสลายนี้ได้
โศล 18:ร่างวัตถุของสิ่งมีชีวิต ผู้ไม่มีวันถูกทำลาย วัดขนาดไม่ได้ และเป็นอมตะ จะต้องจบสิ้นลงอย่างแน่นอน ฉะนั้น โอ้ ผู้สืบราชวงศ์ ภรต เธอจงสู้
โศล 19:ผู้ที่คิดว่าสิ่งมีชีวิตเป็นผู้ฆ่า และผู้ที่คิดว่าสิ่งมีชีวิตถูกฆ่า ทั้งคู่ไม่มีความรู้ เพราะว่าดวงวิญญาณมิได้เป็นทั้งผู้ฆ่า หรือผู้ถูกฆ่า
โศล 20:สำหรับดวงวิญญาณไม่มีการเกิดหรือตาย ไม่ว่าในเวลาใด เขาไม่เคยมาอยู่ในอดีต ไม่มาอยู่ในปัจจุบัน และจะไม่มาอยู่ในอนาคต ดวงวิญญาณไม่มีการเกิด เป็นอมตะ คงอยู่นิรันดร และเป็นสิ่งดั้งเดิม ดวงวิญญาณนั้นจะไม่ถูกสังหารเมื่อร่างกายนี้ถูกสังหาร
โศล 21:โอ้ ปารฺถ ผู้ที่รู้ว่าดวงวิญญาณไม่มีวันถูกทำลาย เป็นอมตะ ไม่มีการเกิด และไม่มีการเปลี่ยนแปลงจะเป็นผู้สังหารผู้ใด หรือจะเป็นต้นเหตุที่ให้ผู้ใดสังหารได้อย่างไร
โศล 22:ดังเช่นบุคคลใส่เสื้อผ้าชุดใหม่ ได้ยกเลิกหรือทิ้งชุดเก่าไป ในลักษณะเดียวกัน ดวงวิญญาณก็รับเอาร่างวัตถุใหม่มา และยกเลิกร่างเก่าที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้
โศล 23:ดวงวิญญาณถูกหั่นให้เป็นชิ้นๆด้วยอาวุธใดๆไม่ได้ ถูกไฟเผาให้ไหม้ไม่ได้ ถูกน้ำทำให้เปียกไม่ได้ หรือถูกลมทำให้แห้งก็ไม่ได้
โศล 24:ปัจเจกวิญญาณไม่แตกสลาย ไม่ละลาย เผาไม่ไหม้ และไม่แห้ง ปัจเจกวิญญาณเป็นอมตะ ปรากฏอยู่ทุกหนทุกแห่ง ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่เคลื่อนไหว และเป็นเหมือนเดิมนิรันดร
โศล 25:ได้กล่าวไว้ว่าดวงวิญญาณนั้นไม่ปรากฏ มองไม่เห็น และไม่เปลี่ยนรูป เมื่อทราบเช่นนี้แล้วเธอไม่ควรโศกเศร้ากับร่างกาย
โศล 26:อย่างไรก็ดี ถ้าหากเธอคิดว่าดวงวิญญาณ (หรือลักษณะอาการของชีวิต) มีการเกิดและตายชั่วนิรันดร เธอก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องโศกเศร้า โอ้ ยอดนักรบ
โศล 27:ผู้ที่เกิดมาแล้วจะต้องตายอย่างแน่นอน และหลังจากตายไปแล้วก็ต้องกลับมาเกิดใหม่อย่างแน่นอน ฉะนั้น ในการปฏิบัติหน้าที่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของเธอนั้น เธอจึงไม่ควรเศร้าโศก
โศล 28:สิ่งมีชีวิตทั้งหมดที่ถูกสร้างขึ้นมา ไม่ปรากฏในช่วงต้น ปรากฏในช่วงกลาง และไม่ปรากฏอีกครั้งเมื่อถูกทำลายลง ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นต้องเศร้าโศกเสียใจ
โศล 29:บางคนมองดูดวงวิญญาณว่าเป็นสิ่งอัศจรรย์ บางคนอธิบายดวงวิญญาณว่าเป็นสิ่งอัศจรรย์ และบางคนได้ยินเกี่ยวกับดวงวิญญาณว่าเป็นสิ่งอัศจรรย์ แต่ในขณะที่อีกหลายคนแม้หลังจากที่ได้ยินเกี่ยวกับดวงวิญญาณแล้วก็ยังไม่สามารถเข้าใจอะไรได้เลย
โศล 30:โอ้ ผู้สืบราชวงศ์ ภรต ดวงวิญญาณผู้พำนักอยู่ในร่างกายไม่มีวันถูกสังหาร ฉะนั้น เธอไม่จำเป็นต้องโศกเศร้ากับชีวิตของผู้ใด
โศล 31:เมื่อพิจารณาหน้าที่โดยเฉพาะของเธอในฐานะที่เป็น กฺษตฺริย เธอควรรู้ว่าไม่มีงานอื่นใดดีไปกว่าการต่อสู้เพื่อหลักศาสนา ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องลังเลใจ
โศล 32:โอ้ ปารฺถ กฺษตฺริย ผู้มีความสุขคือ ผู้ที่โอกาสการต่อสู้เช่นนี้ เอื้ออำนวยโดยไม่ต้องเสาะแสวงหา ซึ่งเป็นการเปิดประตูสวรรค์ให้
โศล 33:อย่างไรก็ดี หากเธอไม่ปฏิบัติหน้าที่ทางศาสนาในการต่อสู้ เธอจะต้องได้รับบาปที่ละเลยต่อหน้าที่อย่างแน่นอน และจะเสื่อมเสียชื่อเสียงในฐานะที่เป็นนักรบ
โศล 34:ผู้คนจะกล่าวถึงเรื่องเสื่อมเสียเกียรติยศชื่อเสียงของเธอตลอดเวลา สำหรับผู้ที่เคยได้รับความเคารพนับถือนั้นการสูญเสียเกียรติเช่นนี้เลวร้ายยิ่งกว่าความตาย
โศล 35:บรรดาขุนพลผู้ยิ่งใหญ่ที่เคยยกย่องนับถือในชื่อเสียงและเกียรติยศของเธอ จะคิดว่าเธอหนีจากสมรภูมิไปเพราะความกลัวเท่านั้น และจะพิจารณาว่าเธอนั้นไม่สำคัญ
โศล 36:ศัตรูจะตำหนิเธอด้วยคำหยาบ และเหยียดหยามความสามารถของเธอ แล้วจะมีอะไรที่ทำให้เธอเจ็บปวดมากไปกว่านี้
โศล 37:โอ้ โอรสพระนาง กุนฺตี เธออาจถูกสังหารในสมรภูมิและไปสู่สรวงสวรรค์ หรืออาจได้รับชัยชนะและมีความสุขกับอาณาจักรโลก ฉะนั้นจงลุกขึ้นมาสู้ด้วยความมั่นใจ
โศล 38:เธอจงสู้เพื่อการต่อสู้โดยไม่พิจารณาถึงความสุขหรือความทุกข์ ขาดทุนหรือกำไร ชัยชนะหรือพ่ายแพ้ ด้วยการกระทำเช่นนี้เธอจะไม่ได้รับผลแห่งบาป
โศล 39:ข้าได้อธิบายความรู้นี้แด่เธอด้วยการวิเคราะห์ศึกษา บัดนี้จงฟัง ข้าจะอธิบายเกี่ยวกับการทำงานโดยไม่หวังผลตอบแทนทางวัตถุ โอ้ โอรสพระนาง ปฺฤถา เมื่อปฏิบัติด้วยความรู้เช่นนี้เธอจะสามารถเป็นอิสระจากพันธนาการของงาน
โศล 40:ความพยายามเช่นนี้ไม่มีการสูญเสียหรือลดน้อยลง และความเจริญบนวิถีทางนี้แม้เพียงเล็กน้อย จะสามารถปกป้องเราจากความกลัวที่มีอันตรายมากที่สุด
โศล 41:โอ้ ผู้เป็นที่รักแห่งราชวงศ์ กุรุ บุคคลผู้ที่เดินอยู่บนหนทางสายนี้มีเป้าหมายที่แน่วแน่และมีจุดมุ่งหมายเป็นหนึ่ง ปัญญาของผู้ที่ไม่แน่วแน่มั่นคงจะแตกสาขามาก
โศล 42-43:บุคคลผู้ด้อยปัญญาจะยึดติดอยู่กับคำพูดสำนวนโวหารในคัมภีร์พระเวทที่แนะนำกิจกรรมเพื่อผลประโยชน์ต่างๆ เช่น เจริญขึ้นไปสู่สรวงสวรรค์ เกิดในตระกูลดี มีอำนาจ และอื่นๆ จากความปรารถนาเพื่อสนองประสาทสัมผัสและมีชีวิตที่มั่งคั่ง พวกเขาจะกล่าวว่าไม่มีอะไรมากไปกว่านี้
โศล 44:ในใจของผู้ที่ยึดติดมากอยู่กับความสุขทางประสาทสัมผัสและความมั่งคั่งทางวัตถุ และผู้ที่สับสนอยู่กับสิ่งเหล่านี้ ความมั่นใจอันแน่วแน่ในการอุทิศตนเสียสละรับใช้องค์ภควานฺจะไม่บังเกิดขึ้น
โศล 45:คัมภีร์พระเวทส่วนใหญ่กล่าวถึงเรื่องสามระดับแห่งธรรมชาติวัตถุ โอ้ อรฺชุน จงอยู่เหนือทั้งสามระดับนี้ จงเป็นอิสระจากสภาวะคู่ทั้งปวง และเป็นอิสระจากความวิตกกังวลเพื่อผลกำไรและความปลอดภัยทั้งปวง และจงสถิตในตนเอง
โศล 46:ความปรารถนาทั้งหลายที่ได้มาจากบ่อน้ำเล็กๆ แหล่งน้ำที่ใหญ่จะสามารถตอบสนองได้ในทันที ในทำนองเดียวกันความปรารถนาทั้งปวงในคัมภีร์พระเวทนั้นจะสามารถได้รับการสนองตอบโดยผู้ที่รู้จุดมุ่งหมายอันแท้จริง
โศล 47:เธอมีสิทธิ์ในการปฏิบัติหน้าที่ดังที่กำหนดไว้ แต่ไม่มีสิทธิ์ได้รับผลของการกระทำ จงอย่าพิจารณาว่าตัวเองเป็นแหล่งกำเนิดของผลงานที่ทำ และอย่ายึดติดกับการไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของเธอ
โศล 48:จงปฏิบัติหน้าที่ของเธอด้วยความแน่วแน่ โอ้ อรฺชุน สลัดการยึดติดต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลวทั้งปวง ความสงบอันมั่นคงเช่นนี้เรียกว่า โยคะ
โศล 49:โอ้ ธนญฺชย เธอจงละทิ้งการกระทำอันน่ารังเกียจนี้ไปให้ไกลแสนไกลด้วยการอุทิศตนเสียสละรับใช้ และด้วยจิตสำนึกเช่นนี้จงศิโรราบต่อองค์ภควาน ผู้ใดที่ปรารถนาจะหาความสุขจากผลงานของตนเองนั้นเป็นคนโลภ
โศล 50:บุคคลผู้ปฏิบัติการอุทิศตนเสียสละรับใช้จะทำให้ตนเองหลุดพ้นไปจากผลกรรมทั้งดีและชั่วแม้ในชาตินี้ ฉะนั้น จงสู้เพื่อโยคะซึ่งเป็นศิลปะแห่งการทำงานทั้งปวง
โศล 51:ด้วยการปฏิบัติอุทิศตนเสียสละรับใช้องค์ภควานฺ นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่หรือสาวกนั้นทำให้ตนเองได้รับอิสรภาพจากผลกรรมในโลกวัตถุ ซึ่งเท่ากับได้รับอิสรภาพจากวัฏจักรแห่งการเกิดและการตาย และบรรลุถึงระดับที่อยู่เหนือความทุกข์ทั้งปวง (ด้วยการกลับคืนสู่องค์ภควานฺ)
โศล 52:เมื่อสติปัญญาของเธอได้ผ่านออกมาจากป่าทึบแห่งความหลง เธอจะเป็นกลางต่อสิ่งที่ได้ยินมาแล้วทั้งหมด และสิ่งที่จะได้ยินทั้งหมด
โศล 53:เมื่อจิตใจของเธอไม่ถูกรบกวนจากสำนวนโวหารของคัมภีร์พระเวท และเมื่อจิตของเธอตั้งมั่นอยู่ในสมาธิเพื่อความรู้แจ้งแห่งตน เมื่อนั้นเธอได้บรรลุถึงจิตสำนึกทิพย์แล้ว
โศล 54:อรฺชุน ตรัสว่า โอ้ กฺฤษฺณ บุคคลที่จิตสำนึกซึมซาบอยู่กับองค์ภควานฺจะมีลักษณะอาการเช่นไร เขาจะพูดอย่างไร และจะใช้ภาษาอะไร เขาจะนั่ง และจะเดินอย่างไร
โศล 55:บุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้าตรัสว่า โอ้ ปารฺถ เมื่อบุคคลยกเลิกความปรารถนานานับปการเพื่อสนองประสาทสัมผัส ซึ่งเกิดขึ้นจากการคาดคะเนของจิต และเมื่อจิตบริสุทธิ์ขึ้นเขาจะพบแต่ความพึงพอใจในตนเองเท่านั้น กล่าวไว้ว่าบุคคลผู้นี้มีจิตสำนึกทิพย์ที่บริสุทธิ์
โศล 56:ผู้ที่จิตใจไม่ถูกรบกวนแม้ท่ามกลางความทุกข์สามคำรบ หรือไม่มีความปิติเมื่อได้รับความสุข และเป็นอิสระจากความยึดติด ความกลัว และความโกรธ ได้ชื่อว่าเป็นนักปราชญ์ผู้มีจิตใจมั่นคง
โศล 57:ในโลกวัตถุนี้ ผู้ที่ไม่เสน่หาต่อสิ่งดีหรือชั่วที่ตนเองอาจได้รับ ทั้งไม่ยกย่องหรือเหยียดหยาม ผู้นั้นได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีความแน่วแน่มั่นคงในความรู้อันสมบูรณ์
โศล 58:ผู้ที่สามารถดึงประสาทสัมผัสของตนเองให้กลับมาจากอายตนะภายนอก ดังเช่นเต่าที่หดแขนขาเข้าไว้ในกระดอง เป็นผู้ที่มีความแน่วแน่มั่นคงในจิตสำนึกที่สมบูรณ์
โศล 59:ดวงวิญญาณในร่างอาจถูกควบคุมจากความสุขทางประสาทสัมผัส แม้รสของอายตนะภายนอกยังคงอยู่ แต่หยุดการกระทำเช่นนี้ได้ด้วยการได้สัมผัสกับรสที่สูงกว่าจะทำให้เขามีความมั่นคงในจิตสำนึก
โศล 60:โอ้ อรฺชุน ประสาทสัมผัสนั้นรุนแรงและรวดเร็วมากจนสามารถบังคับนำพาจิตใจให้เตลิดเปิดเปิงไป แม้จิตใจของผู้มีดุลยพินิจที่พยามยามควบคุมมัน
โศล 61:บุคคลผู้ที่สามารถปรามประสาทสัมผัสของตนเอง รักษาให้อยู่ภายใต้การควบคุมได้อย่างสมบูรณ์ และตั้งมั่นจิตสำนึกอยู่ที่ข้า ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีปัญญามั่นคง
โศล 62:ขณะที่จิตใจจดจ่ออยู่ในรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส ผู้นั้นก็จะเกิดความยึดติดต่อสิ่งเหล่านั้น จากการยึดติดราคะเริ่มก่อตัว และจากราคะความโกรธก็ตามมา
โศล 63:จากความโกรธความหลงงมงายเกิดขึ้น จากความหลงงมงายทำให้ความจำเกิดความสับสน เมื่อความจำสับสนปัญญาก็จะสูญเสียไป และเมื่อปัญญาได้สูญเสียไป เขาก็จะตกต่ำลงไปในสระวัตถุอีกครั้งหนึ่ง
โศล 64:แต่ผู้ที่มีอิสรภาพจากการยึดติดและความรังเกียจ จะสามารถควบคุมประสาทสัมผัสของตนเองได้ และด้วยการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์แห่งอิสรภาพจะสามารถได้รับพระเมตตาโดยสมบูรณ์จากองค์ภควานฺ
โศล 65:สำหรับผู้ที่มีความพึงพอใจ (ในกฺฤษฺณจิตสำนึก) ความทุกข์สามคำรบแห่งความเป็นอยู่ทางวัตถุจะไม่มีอีกต่อไป ในจิตสำนึกที่มีความพึงพอใจเช่นนี้ ในไม่ช้าปัญญาของเขาจะแน่วแน่มั่นคง
โศล 66:ผู้ที่ไม่เชื่อมสัมพันธ์กับองค์ภควาน (ในกฺฤษฺณจิตสำนึก) ไม่มีทั้งปัญญาทิพย์หรือจิตใจที่มั่นคง หากขาดสองสิ่งนี้แล้วจะหาความสงบไม่ได้ แล้วจะมีความสุขได้อย่างไรโดยปราศจากความสงบ
โศล 67:เสมือนดั่งเรือในกระแสน้ำที่ถูกลมพายุพัดพาไป แม้ประสาทสัมผัสเพียงส่วนเดียวที่เตลิดเปิดเปิงไปตามกระแสแห่งจิตใจ จะสามารถนำพาปัญญาของผู้นั้นให้ล่องลอยไปได้
โศล 68:ฉะนั้น โอ้ ขุนศึกผู้ยอดเยี่ยม ผู้ที่สามารถปรามประสาทสัมผัสจากอายตนะภายนอกได้ จึงเป็นผู้มีปัญญาที่มั่นคงอย่างแน่นอน
โศล 69:เวลากลางคืนของมวลชีวิต จะเป็นเวลาตื่นของผู้ควบคุมตนเองได้ และเวลาตื่นของมวลชีวิต จะเป็นเวลากลางคืนของนักปราชญ์ผู้พิจารณาใคร่ครวญตนเอง
โศล 70:ผู้ที่ไม่หวั่นไหวต่อความต้องการที่ไหลเชี่ยวอย่างไม่หยุดยั้ง เสมือนดังน้ำในแม่น้ำที่ไหลลงสู่มหาสมุทร ซึ่งเต็มเปี่ยมแต่นิ่งสงบอยู่เสมอ จะเป็นผู้เดียวที่สามารถได้รับความสงบ มิใช่บุคคลผู้พยายามสนองความต้องการเหล่านี้
โศล 71:บุคคลผู้สลัดความต้องการทั้งหมดในการสนองประสาทสัมผัส มีชีวิตอยู่โดยปราศจากความต้องการ สลัดความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของ ปราศจากอหังการ จะเป็นผู้เดียวเท่านั้นที่สามารถได้รับความสงบอย่างแท้จริง
โศล 72:นี่คือวิถีแห่งชีวิตทิพย์ที่มีศีลธรรม หลังจากบรรลุแล้วผู้นั้นจะไม่สับสน หากเราสถิตเช่นนี้แม้ในชั่วโมงแห่งความตาย เราจะสามารถบรรลุถึงอาณาจักรแห่งองค์ภควานฺ